บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด คาดว่าจะให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/ ‘bbb+’) ที่ ‘BBB(EXP)’ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ euro medium-term note (EMTN) ของธนาคาร
อันดับเครดิตนี้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อฟิทช์ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องฉบับจริงที่ครบถ้วนและสอดคล้องกับเอกสารที่ฟิทช์ได้รับมาแล้ว
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง (anchor rating) ซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ KBANK ที่ ‘bbb+’ อยู่ 1 อันดับเพื่อสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิและความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดปัจจัยที่แสดงว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) ซึ่งระบุไว้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารเมื่อเกิดเหตุที่ธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ออกโดยธนาคารไทยรายอื่น อีกทั้งการรองรับผลขาดทุนไม่ได้เป็นการบังคับให้ตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (mandatory full write-down)
ทั้งนี้อันดับเครดิตไม่ได้ถูกปรับลดลงเพิ่มเติมเนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีการระบุถึงคุณสมบัติในการรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption feature) นอกจากนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 นี้ จะมีลำดับในการได้รับชำระหนี้ก่อนตราสารทุนของธนาคารทุกประเภทซึ่งรวมถึงหุ้นบุริมสิทธิและตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวนี้จะมีสิทธิเท่ากัน (pari passu) กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดอื่นที่ออกโดยธนาคารและสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBANK พิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ของธนาคารในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย การเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงการให้บริการธุรกรรมธนาคาร (transactional banking) และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (digital banking) ที่ช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้านการขายผลิตภัณฑ์และบริการ (cross-selling strategy) และความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำที่มีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBANK จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิงในการพิจารณาอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม