"การเข้าซื้อหุ้น KPN Academy เราใช้เวลามานานในการศึกษาและเจรจารายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งเรามองว่ายังมีโอกาสในการเติบโต และเข้ามาช่วยลดการพึ่งพิงรายได้จากทางเดียว นอกจากนี้ในกลุ่มของ KPN ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำอยู่ ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจที่เรากำลังขยายไปคือ ไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตก็มีโอกาสที่จะมีความร่วมมือกันได้ด้วยเช่นกัน แต่ตอนนี้ผมขอเป้าหมายที่ KPN Academy ก่อน"นายอารักษ์ กล่าว
สำหรับนายณพ ณรงค์เดช ปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนและบริหารงานในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรายใหญ่ของประเทศ โดยล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.62 มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 717 เมกะวัตต์ ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการ ECF เมื่อวันที่ 20 ก.ย.62 อนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ KPN Academy ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 57.52% คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 460.18 ล้านบาท โดยเป็นซื้อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ประกอบด้วย นายณพ ณรงค์เดช , โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี , นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนางแสงเดือน อิ่วบำรุง โดยชำระเงินด้วยหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 4 ราย เข้ามาถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 16.66% โดยเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของนายณพ ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 15.06%
นายอารักษ์ กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นทั้งหมดใน KPN Academy จากผู้ถือหุ้นรายอื่นเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม โดยปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมเนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจา สำหรับการเข้าลงทุนใน KPN Academy คือการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจการศึกษาครั้งนี้ มองว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ โดย KPN Academy ประกอบกิจการหลักอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ 1. สถาบันดนตรี ซึ่งปัจจุบันมีสาขารวมอยู่ 40-50 สาขา ซึ่งยังมีความต้องการของผู้ปกครองที่มีบุตรหลาน จะส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ทำให้มองว่ายังสามารถขยายกิจการได้อีกมาก
2. ธุรกิจสื่อการสอนออนไลน์ และธุรกิจแนะแนวการศึกษาเพื่อเตรียมสอบและเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อ "U-Sierra" ที่ยังมีความต้องการ และมีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และ 3.การเข้าประมูลงานโครงการภาครัฐเกี่ยวกับการจำหน่ายดนตรีและการพัฒนาทักษะทางดนตรี ที่บริษัทมองว่ายังเป็นโอกาสในการเติบโต โดยปัจจุบันได้มีการเตรียมแผนงานต่าง ๆ ไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากการแข่งขันค่อนข้างมาก
นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมผลประกอบการในปีนี้ มั่นใจว่าผลประกอบการทั้งปี 62 จะดีกว่าปีก่อนแน่นอน โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 693.52 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 13.78 ล้านบาท และคาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกเนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น และบริษัทเน้นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น คือกลุ่มลูกค้าหลักในญี่ปุ่นและกลุ่มลูกค้ารายใหม่ ที่บริษัทได้ขยายฐานการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไปประเทศจีน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมียอดคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น เพราะมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อ และสามารถที่จะส่งคำสั่งซื้อได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 55%
สำหรับตลาดในประเทศยอมรับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสาน โดยจะส่งผลกระทบหลักในช่วงไตรมาส 3/62 แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากำลังซื้อของตลาดในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวช่วงไตรมาส 4/62 "ในปีนี้เราค่อนข้างมั่นใจว่าผลประกอบการจะดีกว่าปีก่อน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะดีกว่ามากน้อยแค่ไหน เนื่องจากผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเรายังได้แรงหนุนจากตลาดต่างประเทศที่เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเราได้เน้นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ"นายอารักษ์ กล่าว