นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทได้สมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 4 โครงการ ซึ่งหากศึกษาร่วมกันสำเร็จ จะทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการไฟฟ้า การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการพลังงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะระบบแลกปลี่ยน พลังงาน และระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อสร้างเสถียรภาพระบบไฟฟ้า ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
สำหรับทั้ง 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 โดยบีซีพีจีและบริษัทในเครือ ได้ร่วมมือกับบมจ.แสนสิริ (SIRI) พัฒนาพื้นที่ Town 77 บริเวณอ่อนนุช ให้เป็นต้นแบบในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือแนวทางการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบ Peer to Peer ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน ของผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ภายในเขตนครหลวง
โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยบีซีพีจี และบริษัทในเครือ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพันธมิตร ร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านพลังงานสะอาด (Smart Energy) ของประเทศ และต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community โดยบีซีพีจีได้ร่วมมือกับ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า Smart Grid บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 200 ไร่ ที่มีการใช้งานพลังงานไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและ Community Mall เพื่อให้เป็นต้นแบบชุมชนสีเขียวแห่งอนาคต (Smart Green Energy Community)
โครงการลมลิกอร์ โดยบริษัท ลมลิกอร์ จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ในเครือบีซีพีจี ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้โครงการลมลิกอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าพยา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้นแบบสำหรับการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ด้วยการนำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม ช่วยลดปัญหาความผันผวนของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม และนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ มาใช้ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการรองรับธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและการบริหารระบบโครงข่ายในอนาคต
ทั้งนี้ หากการดำเนินโครงการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จะทำให้การบริหารจัดการพลังงานสองคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และนโยบายของรัฐ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติสูงสุดในด้านต่าง ๆ ดังนี้ การปฏิรูปด้านไฟฟ้า ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าและการลงทุนของประเทศ ลดภาระของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย หรือ Distributed Generation (DG) ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ (Centralized Generation)
การสนับสนุนพลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ และยังสามารถนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตมาทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายกับเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งทางภาครัฐสามารถนำข้อมูลผลการศึกษาที่ได้รับจากโครงการ มาออกกเป็นนโยบายกำกับดูแล การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน
ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาใช้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดภาระของภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน และสามารถกำหนดแผนการนำมาใช้ในระบบสายส่งในภาคพลังงานต่อไป
สำหรับโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับสำนักงาน กกพ. จนได้ข้อสรุป ซึ่ง กกพ. ได้ให้ระยะเวลาดำเนินการแต่ละโครงการไม่เกิน 3 ปี ซึ่งบีซีพีจีมั่นใจว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนดเวลาอย่างแน่นอน
"บริษัทมีความตั้งใจในการดำเนินการทุกโครงการ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน พัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมีอิสระด้านพลังงาน ในการผลิตเอง ใช้เอง เหลือขาย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน เอี้อประโยชน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Democratization of Energy ของบริษัทฯ"นายบัณฑิต กล่าว