ทองคำกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากในปีนี้ หลังจากมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามามากขึ้นผลักดันราคาทองพุ่งขึ้น 17% ตั้งแต่ต้นปีแตะจุดสูงสุดในปีนี้ 1,557 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หรือ 22,400 บาทสำหรับทองในประเทศ และคาดปลายปีนี้มีโอกาสขึ้นไปแตะ 1,600 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หรือ 23,000 บาท โดยเฉพาะประเด็นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นราคาทองคำ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไม่ดีในหลายประเทศ ซึ่ง "วายแอลจี" แนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนทองคำในพอร์ตเป็น 15% จากเดิม 5-10%
นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (วายแอลจี) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า ราคาทองเมื่อต้นปี 62 อยู่ที่ 1,282 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ก่อนดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทำจุดสูงสุดที่ 1,557 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หรือปรับขึ้นมา 17% ส่วนราคาทองในประเทศปรับขึ้น 10% มาที่ 22,400 บาท หลังเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปีไปแล้ว 6%
สาเหตุที่ทองคำกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้ง เพราะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับหุ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แม้ว่าราคาทองคำจะสวิงอยู่แต่ยังมีมุมมองเป็นขาขึ้น อย่างไรก็ดี รอบนี้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปแตะที่ 1,557 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ก็มีแรงเทขายออกมา ซึ่งในเชิงทางเทคนิคไม่ควรหลุด 1,489 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ แต่หากหลุดให้จุด stop loss ที่ 1,450 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ และมีโอกาสลงไปแนวรับถัดไปที่ 1,400 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์มีค่อนข้างมาก เพราะปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ในรอบที่แล้ว (17-18 ก.ย.) แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่เห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐจะแย่ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงมาที่ 1,483 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ และดีดขึ้นมาทรงตัวในระดับ 1,500 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ โดยให้แนวรับที่ 1,480 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองทองคำเป็นขาขึ้น มีโอกาสปรับตัวขึ้นไป 1,550-1,600 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ซึ่งช่วงปลายปีนี้ ก็คาดว่าน่าจะขึ้นไปที่แนวต้าน 1,600 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หรือ 23,000 บาท และแนวโน้มปีหน้าก็ยังมองเป็นบวกอยู่
ขณะนี้ยังไม่มีข่าวหรือปัจจัยใดที่จะเข้ามาหนุนราคาทองคำ โดยยังต้องติดตามความคืบหน้าของสงครามการค้าที่ขณะนี้ทั้งจีนและสหรัฐเตรียมเข้าสู่การเจรจากันในต้นเดือน ต.ค.นี้ ว่าจะจบลงอย่างสันติได้หรือไม่ นางสาวฐิภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำให้ขึ้นลงแรงมาจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่ทุกครั้งของการทวีตข้อความ ส่งผลกระทบทำให้ราคาทองคำสวิงมาก และถึงแม้เรื่องสงครามการค้าหากจบไป ก็อาจจะมีเรื่องอื่นที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะทวีตออกมาที่จะส่งผลต่อทองคำได้อีก
"ปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้นทำให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่กลับมาน่าสนใจมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น โดยกองทุน SPDR ได้เช้าซื้อจากต้นปีจนถีงปัจจุบันเกือบ 100 ตันแล้ว ธนาคารกลางหลายประเทศก็ทยอยเข้าซื้อทอง โดยเฉพาะแบงก์ชาติจีนเข้าซื้อทองคำทุกเดือน ขณะที่ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ดี เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทำให้ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนทองคำมากขึ้น"
พร้อมแนะนำให้ลงทุนทองคำเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 15% ของพอร์ตในปีนี้ เพราะเทรนด์เป็นขาขึ้น จากเดิมแนะนำลงทุนในพอร์ต 5-10% ในปีก่อน
"ก่อนหน้าที่ไม่มีเรื่อง Trade war เรามองไว้ที่ 1,450 เหรียญฯ พอมีเหตุการณ์ Trade War ราคาพุ่งไปแล้ว โดยกองทุนต่าง ๆ ก็ให้ target ทองคำไว้ที่ 1,600 เหรียญฯ"นางสาวฐิภา กล่าว
ปัจจุบันมีการซื้อขายของ Gold Futures มีการซื้อขายหนาแน่น ซึ่งต้นปีนี้ถึงส.ค.นี้มียอดซื้อขายเกือบ 5 ล้านสัญญาแล้ว เทียบกับเมื่อปีก่อน มีการซื้อขาย 4 ล้านกว่าสัญญา จากปี 60 มียอดซื้อขาย 3 ล้านสัญญา เพราะราคาทองคำผันผวนขาขึ้น ประกอบกับสินทรัพย์อื่นผลตอบแทนไม่ดี ดังนั้น แนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนทองคำในพอร์ตอย่างน้อย 5-10% ไว้ เพราะการลงทุนทองคำจะช่วยกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะลงทุนเป็นทองคำ 96.5% ทองคำ 99% หรือ Gold Futures ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร
"ปีนี้เป็นปีที่ดีของทองคำแท่งและ Gold Futures คนหันมาลงทุนเพิ่มขึ้น หลักๆเป็นเพราะเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ทั้งตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์"
อนึ่ง วายแอลจี ดำเนินธุรกิจด้านทองคำให้กับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) ตลอดจนเป็นตัวแทนซื้อขายอนุพันธ์ SET50 Futures, Single Stock Futures , SET50 Index Options และเพิ่งเป็นตัวแทนซื้อขาย USD Fututres นอกจากนี้ ยังทำตลาด Retail หรือขายปลีก ในนาม วายแอลจี พรีเซียส ที่ขายทองคำรูปพรรณ ทองคำแท่งไซส์เล็ก โดยมีร้านค้าปลีกทองคำ 2 แห่งที่เซ็นทรัลพระราม 9 และเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวมทั้ง เพิ่มช่องทางซื้อขายทองออนไลน์ (E-Commerce) ผ่านเว็บไซต์ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปี 62 และจัดส่งทางไปรษณีย์
https://youtu.be/ksDNp0LAzSA