นายชัยยศ ปิยะวรรณรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ (CPT) กล่าวถึงการเข้ามาถือหุ้น 5.56% โดยซื้อจากนายสมศักดิ์ หลิมประเสริฐ และเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวแทนนายสมศักดิ์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการทำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่ผู้นำการให้บริการโซลูชั่นระบบไฟฟ้าและการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม โดยจะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติที่มีมายาวนานกว่า 31 ปี มาช่วยวางแผนเพื่อผลักดันการเติบโตที่ดีให้แก่ CPT
นายชัยยศ มั่นใจว่าผลประกอบการของ CPT ในปีนี้จะมีกำไรสุทธิอย่างแน่นอน แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกบริษัทจะมีผลขาดทุน 10.86 ล้านบาท โดยบริษัทเชื่อว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกตามปริมาณงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้บริษัทมีงานในมือ (Backlog) มูลค่าราว 400 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในข่วงที่เหลือของปีนี้กว่า 200 ล้านบาทและจะมีงานใหม่บางส่วนที่จะรับรู้รายได้บางส่วนในปีนี้
อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 964.18 ล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้เติบโต 10% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้งานใหม่ชะลอตามไปด้วย แต่ขณะนี้งานต่างๆ เริ่มทยอยออกมาบ้างแล้ว โดยบริษัทอยู่ระหว่างยื่นประมูลงานใหม่มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและน้ำ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนปลายปีนี้ บริษัทคาดหวังจะได้งานไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
กลยุทธ์ต่อจากนี้บริษัทจะดำเนินกิจการภายใต้ 3 กลยุทธ์หลักเพื่อจะมุ่งสร้างการเติบโตในระยะยาว ได้แก่ 1.การเพิ่มคำสั่งซื้อจากฐานลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความต้องการใช้ระบบไฟฟ้าเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักร โดยจะให้บริษัท ซีพีที ลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPT ถือหุ้น 100% สนับสนุนวงเงินกู้ยืมแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อนำไปลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้าแก่อุตสาหกรรมหนัก นอกจากนี้ บริษัทจะเพิ่มขีดความสามารถขยายช่องทางการตลาด สู่การเป็นซัพพลายเออร์จัดหาแผงควบคุม และรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ตู้ไฟฟ้า ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาด้านวิศวกรรมระบบไฟฟ้า
2.เพิ่มศักยภาพธุรกิจการให้บริการ คำปรึกษา และซ่อมบำรุงหลังการขาย เพื่อที่จะให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว (Customer Loyalty) ตลอดจนสามารถขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม
และส่วนสุดท้าย 3.การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่สร้างการเติบโตผ่านแนวทาง การศึกษาโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) การจับมือพันธมิตรร่วมลงทุน (JV) โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% น่าจะได้ข้อสรุปภายในช่วงไตรมาส 4/62 นี้
"บริษัทจะใช้ฐานการผลิตโรงงานแห่งใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อช่วยต่อขยายฐานลูกค้าในระดับพรีเมียมในอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นๆ ที่ความต้องการใช้ระบบไฟฟ้าที่มีคุณภาพและตู้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานสูง เช่น ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหรรมปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่ากลยุทธ์ที่กล่าวมาจะทำให้ CPT สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมระบบไฟฟ้าเป็น 10% จากมูลค่าตลาดรวมที่ 15,000 ล้านบาท"นายชัยยศ กล่าว