PTT คาดปี 51 ความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปในปท.โต 0.5-1.5% ก๊าซ 12-14%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 25, 2008 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ปตท.(PTT)  คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551จะขยายตัวในระดับ 4.5-5.5% การใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศคาดว่าจะขยายตัว 0.5-1.5% การใช้ก๊าซธรรมชาติจะขยายตัว 12-14% เพื่อใช้ในภาคขนส่ง การผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนน้ำมันเตาและภาคอุตสาหกรรม ส่วนความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี คาดว่าจะขยายตัว 6.0-7.5%
แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551
ขณะที่การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอุปสงค์ในประเทศจากความเชื่อมั่นที่เริ่มปรับดีขึ้น การดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 และช่วยสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจไทยให้สามารถรองรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกได้
มากขึ้น แทนการพึ่งพาภาคส่งออกเป็นหลักดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ส่วนสถานการณ์โลกนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2551 จะขยายตัว 4.1% ลดลงจากปี 2550 ถึง 0.8% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และมีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากความยืดเยื้อของปัญหา Subprime และการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้อุปสงค์ในสหรัฐฯ ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วย
นอกจากนี้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูงและผันผวนการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคาดว่าสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องจากที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Interest Rate) ลงถึง 1.25% สู่ 3.0% โดยปรับลด 2 ครั้งในเดือนมกราคม 2551 เนื่องจากความกังวลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและความผันผวนของตลาดเงิน
ขณะที่ประเทศซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี อาทิ ประเทศจีน และประเทศอินเดีย อาจดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรและทวีความปั่นป่วนในตลาดเงินโลก
ถึงแม้ว่าแนวโน้มของอุปสงค์และอุปทานน้ำมันปี 2551 จะมีความสมดุลกันที่ระดับ 86.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอุปทานน้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันจากการเพิ่มกำลังผลิตของกลุ่มนอกโอเปกเป็นสำคัญที่ประมาณ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนอุปสงค์น้ำมันจากประเทศในกลุ่มโอเปกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ 0.8-1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
หากแต่ความกังวลด้านอุปทานอันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากและอยู่ในระดับสูง การขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญในธุรกิจสำรวจและผลิต ลัทธิชาตินิยมในประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งส่งผลให้การพัฒนาแหล่งพลังงานเป็นไปอย่างล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ รวมถึงปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันสำคัญในแถบตะวันออกกลาง อาทิ ไนจีเรีย อิรัก และอิหร่าน
กอปรกับการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในภาวะที่ตลาดเงินและตลาดทุนโลกมีความปั่นป่วน จะเป็นแรงหนุนให้ราคา
น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทรงตัวอยู่ในระดับสูงและผันผวนในช่วง 75 - 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่อาจมีแนวโน้มลดต่ำลงหากเศรษฐกิจโลกและ/หรือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้อุปสงค์น้ำมันปรับลดลงซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าการกลั่นและระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูป
ส่วนแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับสูงถึงแม้ธุรกิจปิโตรเคมีเริ่มเข้าสู่ช่วงวัฎจักรขาลง โดยได้แรงหนุนจากการเลื่อน/ชะลอโครงการผลิตใหม่ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชีย อย่างไรก็ตาม จุดต่ำสุดของวัฎจักรนี้คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2553 - 2554

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ