นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 63 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ หลังจะมีโรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นอีกราว 140 เมกะวัตต์ (MW) และจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ COD ในปีนี้ราว 620 เมกะวัตต์ได้เต็มปีอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 12,000 เมกะวัตต์ COD แล้ว 5,919 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่มีอยู่ในมือราว 6,500-6,700 เมกะวัตต์ COD แล้ว 2,670 เมกะวัตต์ โดยในปี 63 จะมีโรงไฟฟ้าที่ COD ได้แก่ โรงไฟฟ้าไบโอแมส 20 เมกะวัตต์ ใน อ.จะนะ จ.สงขลา, โรงไฟฟ้าพลังงานลม 30-80 เมกะวัตต์ในเวียดนาม และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน เฟสแรก 40 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 5 เฟส กำลังการผลิตรวม 326 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบทั้งหมดภายในปี 65
นายรัฐพล กล่าวอีกว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Mekong Wind Power ซึ่งประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดประมาณ 30 เมกะวัตต์ (MW) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล (Offshore Wind Farm) ขนาดประมาณ 310 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโครงการพลังงานลมเฟสแรก 30 เมกะวัตต์ แล้ว ส่วนที่เหลือจะทยอยเซ็นสัญญา PPA ให้แล้วเสร็จต่อไป ส่วนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังรอทางการสรุปราคาค่าไฟฟ้าให้ชัดเจนก่อน
ส่วนการพัฒนาโครงการก๊าซฯในโอมาน เฟสแรก คืบหน้าแล้ว 60-70% ก็น่าจะสามารถ COD ได้ตามแผนงาน ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างศึกษาโครงการที่สองในโอมาน ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน คาดว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 500-1,000 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนให้กับกลุ่มโรงงาน โดยจะเป็นการลงทุนร่วมกับพันธมิตรคาดว่าจะสรุปในปี 63 ส่วนการศึกษาธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในโอมานคาดว่าจะยังต้องใช้เวลาพิจารณาระยะหนึ่ง
ขณะที่ความคืบหน้าการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 6,000 เมกะวัตต์ในเวียดนาม และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ ในลาว คาดว่าจะใช้เวลาหาข้อสรุปภายใน 1 ปีจากนี้ โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวจะมีทั้งสิ้น 3 โครงการ ซึ่งจะเป็นผลิตไฟฟ้าเพื่อขายกลับมายังประเทศไทย ปัจจุบันก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะต้องมีการแข่งขันเรื่องค่าไฟฟ้าด้วย อย่างไรก็ตามหากไม่ได้ขายไฟฟ้ากลับมาไทยแล้วจะพัฒนาโครงการต่อไปหรือไม่นั้น ก็ต้องดูความสามารถของลูกค้าที่จะมาซื้อแทนขายกลับมายังประเทศไทยด้วยว่ามีความแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่
ด้านนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ GULF กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ในประเทศ 2 แห่ง โดยแห่งแรก โครงการ GSRC ตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าแล้ว 30% ส่วนอีก 1 แห่ง เป็นโครงการ GPD ที่ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากู้เงินราว 4 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ในเดือนพ.ย.นี้
ส่วนความคืบหน้าการลงนามสัญญาในงานบริหารและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ที่บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรเป็นผู้ชนะประมูลนั้น คาดว่าจะมีการลงนามร่วมทุนกับกรมทางหลวงได้ในปีนี้ หลังจากปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดใกล้จะได้ข้อยุติแล้ว