นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมรุกขายก๊าซธรรมชาติให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น จากแนวโน้มตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงปตท.ได้นำโซลูชั่นใหม่เข้ามาเพื่อใช้ขนส่งก๊าซฯในรูปแบบของเหลว (LNG) อย่างรถโมบายขน LNG ที่มีหน่วยแปรสภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ (Regas unit) เพื่อแปรสภาพก๊าซฯในพื้นที่ใช้งาน ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ส่วนการใช้ก๊าซฯเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในปีนี้ยังทรงตัว แต่การผลิตไฟฟ้าของประเทศยังมีการขยายตัว จากพลังงานทดแทน ซึ่งในอนาคตบทบาทของก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มจะลดลง จากการที่พลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและจะกดดันให้ราคาก๊าซฯถูกลง แต่ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าเห็นว่าก๊าซฯจะยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีบทบาทสำคัญของประเทศอยู่ ดังนั้น ประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งก๊าซฯในประเทศ จึงควรเร่งนำก๊าซฯขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์และเหมาะสมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีการผลิตก๊าซฯทั้งจากแหล่งบนบกและอ่าวไทย รวมถึงยังมีการนำเข้าก๊าซฯจากประเทศเพื่อนบ้านตลอดจนมีการนำเข้า LNG เข้ามาใช้ในบางส่วน แต่ในอนาคตการนำเข้า LNG อาจจะปรับลดลงจากแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan2018) ที่ใช้ในอยู่ปัจจุบันที่คาดว่าจะนำเข้า LNG ในปริมาณกว่า 30 ล้านตัน/ปี หลังไทยประสบความสำเร็จในการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณรอบใหม่ หลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66
"เราจะพยายามรักษาปริมาณการผลิตก๊าซฯในประเทศให้เหมาะสมที่ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ ขณะเดียวกันก็จะมีการนำเข้าก๊าซฯรูปแบบ LNG มาเพิ่มเติมในปริมาณไม่มากนัก"นายวุฒิกร กล่าว
สำหรับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็น Gas Plan 2015 ซึ่งจะมีความต้องการใช้ก๊าซฯรวม 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2579 แต่แผนดังกล่าวต้องมีการปรับปรุงใหม่ หลังจากที่รัฐบาลอยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวพ.ศ.2561-2580 (PDP2018) โดยแผน PDP2018 เพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซฯมากขึ้น ทำให้ต้องมีการจัดทำ Gas Plan ฉบับใหม่ โดยร่าง Gas Plan ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯจะอยู่ที่ 5,509 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในปี 2579
นายวุฒิกร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมที่จะรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซ LNG ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีคลังรับ-จ่าย LNGแห่งที่ 1 รองรับ 11.5 ล้านตัน/ปี และคลังแห่งที่ 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะรองรับได้ 7.5 ล้านตัน/ปี ทำให้ในปี 65 ไทยจะมีขีดความสามารถรับ-จ่าย LNG ได้ถึง 19 ล้านตัน/ปี และคลังแห่งที่ 3 ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดว่าจะมีขีดความสามารถรับ-จ่าย LNG ได้ 5-8 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้ในอนาคตไทยมีขีดความสามารถรับ-จ่าย LNG รวม 27 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปตท.ยังอยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างท่อก๊าซฯใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางนครราชสีมา-ขอนแก่น-น้ำพอง และเส้นทางโรงไฟฟ้าพระนครใต้-โรงไฟฟ้าบางปะกง