ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนแบรนด์ที่แข็งแกร่งในสินค้าที่หลากหลาย รายได้ที่สม่ำเสมอจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า และภาระหนี้เงินกู้ที่อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการที่บริษัทมีหลักทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
บริษัทมีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเป็นบริษัทชั้นนำ 1 ใน 3 รายแรกในแง่ของรายได้ บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 3.47 หมื่นล้านบาทในปี 2561 อีกทั้งยังมีอัตรากำไรที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ระดับ 23%-26% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันนั้นอยู่ระหว่าง 15%-25%
ผลงานที่เป็นที่ยอมรับของบริษัทได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยยอดขายของบริษัทในปี 2561 เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 2.89 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง ทำให้ยอดขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ของบริษัทปรับตัวลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1.33 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดขายและรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนโครงการทาวน์เฮ้าส์อยู่ที่ระดับประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่ยอดขายและรายได้จากคอนโดมิเนียมนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละปีซึ่งขึ้นอยู่กับการเปิดโครงการใหม่และกำหนดการในการโอนห้องชุดในโครงการในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลดลง 16% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.49 หมื่นล้านบาทเนื่องจากมีการส่งมอบห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมน้อยลง
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2563 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 แล้วจะลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2565 อันเป็นผลจากโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการจะพร้อมโอนในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจลดทอนลงจากการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าบริษัทจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้และจะรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ที่ระดับประมาณ 22%-24% เอาไว้ได้ในช่วงปี 2562-2565
สินค้าที่มีความหลากหลายภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อเสียง มีการกระจายตัวที่ดีซึ่งครอบคลุมทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมในระดับราคาที่แตกต่างกัน โครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันและความมีคุณค่าของแบรนด์สินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดบ้านเดี่ยว ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทได้รับการยอมรับจากลูกค้าเป็นอย่างมากในแง่ของคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย
สินค้าหลักของบริษัทคือบ้านเดี่ยวซึ่งคิดเป็น 75%-80% ของยอดขายรวมในช่วงปี 2558 จนถึงครึ่งแรกของปี 2562 สินค้าบ้านเดี่ยวของบริษัทครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้าระดับล่างถึงระดับบนในราคาขายต่อหลังตั้งแต่ 3 ล้านบาทจนถึงมากกว่า 25 ล้านบาท โดยแบรนด์ "มัณฑนา" "นันทวัน" และ "ลดาวัลย์" ซึ่งมีราคาขายต่อหลังมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปเป็นสัดส่วนหลักของยอดขายบ้านเดี่ยวของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีสินค้าทาวน์เฮ้าส์ที่ครอบคลุมลูกค้าในทุกระดับราคา แต่บริษัทให้ความสำคัญกับทาวน์เฮ้าส์ที่ราคาระหว่าง 2-4 ล้านบาทต่อหลังในแบรนด์ "อินดี้" และ "วิลเลจจิโอ" เป็นหลัก
ส่วนสินค้าคอนโดมิเนียมของบริษัทก็ครอบคลุมตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบนในราคาขายตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 300,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) โดยบริษัทเน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับบนที่ราคา 8 ล้านบาทต่อยูนิตในแบรนด์ "เดอะ รูม" และ "เดอะ บางกอก" เป็นหลัก
ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนาประมาณ 73 โครงการซึ่งมีมูลค่าเหลือขายโดยรวม 5.9 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) โครงการบ้านจัดสรรมีสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าเหลือขาย ส่วนที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาทซึ่งคาดว่าจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562 จนถึงปี 2564
รายได้ที่สม่ำเสมอจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ในช่วงปลายปี 2561 บริษัทเริ่มเปิดให้บริการโรงแรม "แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ พัทยา" และศูนย์การค้า "เทอมินอล 21 พัทยา" ซึ่งทำให้ปัจจุบันบริษัทบริหารโรงแรมรวมทั้งสิ้น 5 แห่งภายใต้แบรนด์ "แกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์" รวมทั้งศูนย์การค้าอีก 1 แห่ง และอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าอีก 4 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีอัตราการเช่าของโรงแรมแต่ละแห่งอยู่ที่ระดับสูงกว่า 80% โดยรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) อยู่ที่ 2,600-3,300 บาทต่อคืน ศูนย์การค้าเทอมินอล 21 พัทยามีผลการดำเนินงานที่ดีโดยมีอัตราการให้เช่าพื้นที่อยู่ที่ 98% ณ เดือนมิถุนายน 2562 ด้วยอัตราค่าเช่าที่ดี ส่วนผลการดำเนินงานของอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า 3 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในระดับที่ดี ในขณะที่อัตราการเช่าของอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยบริษัทอยู่ระหว่างเพิ่มอัตราการให้เช่าหลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงอพาร์ทเม้นท์ดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2561 ทั้งนี้ อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าของบริษัทสร้างรายได้จำนวน 3.73 พันล้านบาทในปี 2561 และ 2.41 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562
นอกจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว บริษัทยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ที่ถนนพระราม 3 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในช่วงปลายปี 2564 อีกด้วย ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าอยู่ที่ 4.8-5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 และจะเพิ่มเป็น 5.8 พันล้านบาทในปี 2565 หลังจากที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ที่ถนนพระราม 3 เริ่มเปิดให้บริการ
บริษัทมีนโยบายในการพัฒนาหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมอแล้วจากนั้นจะนำอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจำหน่ายเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust -- REIT) หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเมื่ออสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นมีผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ รวมทั้งรับรู้กำไรได้เร็วขึ้นและลดภาระหนี้ลงได้
ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความผันผวนและมีการแข่งขันที่รุนแรง แม้ว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมากแต่ก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำ อีกทั้งการนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของ ธปท. มาบังคับใช้นั้นก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยในระยะสั้นด้วย ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสาหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน ดังนั้น บริษัทจึงควรบริหารจัดการโครงการที่เปิดใหม่อย่างระมัดระวังเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่
ในปีนี้บริษัทมีแผนการจะเปิดเฉพาะโครงการแนวราบซึ่งมุ่งเน้นไปยังตลาดที่มีความต้องการที่แท้จริงมากกว่าตลาดเก็งกำไร ทั้งนี้ อัตราการขายที่ชะลอตัวลงและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ได้
ภาระหนี้เงินกู้อยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงตามปกติ รวมถึงจากการขยายธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า โดยในปี 2561 บริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วจำนวน 5.1 พันล้านบาทในการซื้อที่ดินและเปิดโครงการทั้งสิ้น 16 แห่งซึ่งมีมูลค่ารวม 2.3 หมื่นล้านบาท งบในการซื้อที่ดินของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านบาทในปี 2562 และบริษัทยังวางแผนจะเปิดโครงการใหม่อีกจำนวน 19 โครงการซึ่งเป็นโครงการแนวราบเท่านั้นอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาทและจะเป็นมูลค่าการเปิดโครงการสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งงบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าอีกจำนวน 3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 อีกด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงปี 2562-2565 จาก 47% อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 23% ในปี 2562 เนื่องจากบริษัทจะรับรู้รายได้จากการขายกิจการของโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พ้อยท์ สุขุมวิท 55 ออกไปในช่วงปลายปี 2562 นี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินในช่วงปี 2563-2565 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 17%-19% เนื่องจากภาระหนี้จะเพิ่มเร็วกว่ากำไร และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นแต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5 เท่า ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทอาจต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ได้หากบริษัทมีการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าหรือเลื่อนแผนการลงทุนออกไป
สภาพคล่องที่เพียงพอซึ่งเสริมด้วยความยืดหยุ่นทางการเงินจากการมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4.8 พันล้านบาทและยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 4.4 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ 9 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะมีจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทและเงินกู้จากสถาบันการเงินที่จะต้องชำระอีกจำนวน 2 พันล้านบาท โดยปกติแล้วบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระ อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนจะใช้วงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นเงินสำรองสำหรับจ่ายชำระหนี้ระยะสั้นทั้งหมด นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุนและการมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูงจำนวนมากยังช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทในกรณีที่จำเป็นได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 4 แห่งซึ่งประกอบด้วย บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) และ บมจ.ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ (Q-CON) บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนดังกล่าวอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาทต่อปีในปี 2561 และมูลค่าตลาดของเงินลงทุนในบริษัทร่วมดังกล่าว ณ เดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ 8.53 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7 เท่าของภาระหนี้คงค้างของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่ามูลค่าของเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และความผันผวนของตลาด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มีความเห็นว่ามูลค่าของเงินลงทุนดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของบริษัทได้
ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า โดยเงื่อนไขทางการเงินหลักของหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 1.5 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 อัตราส่วนดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงิน โดยอยู่ที่ 0.89 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้จากการดำเนินงานจะอยู่ในช่วง 3.2-3.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565
อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ประมาณ 32%-34% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 22%-24%
งบในการซื้อที่ดินจะอยู่ที่ 7 พันล้านบาทในปี 2562 และ 6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
เงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาทในปี 2562 ที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2563 ที่ 4.4 พันล้านบาทในปี 2564 และที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2565
จะขายกิจการโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ สุขุมวิท 55 ในช่วงปลายปี 2562 และจะขายอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าในประเทศสหรัฐอเมริกา 1 แห่งในปี 2563
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง รวมถึงจะรักษาระดับยอดขายที่อยู่อาศัยและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง อีกทั้งจะรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ต่อไป ทั้งนี้ บริษัทควรจะดำรงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับต่ำกว่า 5 เท่า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่องในขณะที่ผลการดำเนินงานยังคงแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทแตกต่างไปจากประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ