นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนตุลาคม 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธ.ค. 62) เพิ่มขึ้น 8.64% มาอยู่ที่ระดับ 111.62 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) ที่มีช่วงค่าดัชนี 80-119 เป็นเดือนที่สอง โดยมีปัจจัยหนุนจากความคาดหวังนโยบายภาครัฐและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด
ผลสำรวจยังพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม ,ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) เช่นเดิม ,ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) ,ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL) โดยปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายภาครัฐ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ช่วงเดือนกันยายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเคลื่อนไหวทรงตัวในทิศทางลดลงเล็กน้อยจากระดับ 1,654 จุด โดยดัชนีทยอยปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งเดือนหลัง ภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐลง 0.25% แต่ไม่ส่งสัญญาณความต่อเนื่องของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดัชนีฯเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1,630 จุด ในช่วงปลายเดือน
"ทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือความเชื่อมั่นในปัจจัยในประเทศจากความคาดหวังนโยบายภาครัฐที่ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการไหลเข้าออกของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามนักลงทุนมีความกังวลปัจจัยต่างประเทศจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่อว่าจะมีความยืดเยื้อไม่แน่นอน แม้ว่าทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะคลี่คลายลงในช่วงนี้ก็ตาม เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือกังวลผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน"นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนต.ค. แนวโน้มการพิจารณากรณีการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ภายหลังศาลสูงของอังกฤษตัดสินให้เปิดการประชุมสภาทำให้ลดความเสี่ยงการพิจารณา No-Deal Brexit ภายในวันที่ 31 ต.ค.62 ทิศทางความต่อเนื่องของนโยบายผ่อนคลายเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐภายหลังลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี
รวมถึงนโยบายของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติม ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณและมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม