นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เปิดเผยว่า กลุ่มไทยเบฟยังคงเดินหน้าใช้งบลงทุน (Capex) ในงวดปี 63 (ต.ค.62- ก.ย.63) จำนวน 7,000 ล้านบาท ไม่นับรวมวงเงินที่จะใช้ซื้อกิจการ (M&A) ที่มีอยู่ในแผน โดยจะยังรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่สูงเกินไป โดยงบลงทุนในงวดปี 63 จะใช้สำหรับขยายธุรกิจ ลงทุนขยายโรงงานต่อเนื่อง จากปีก่อนใช้ไปแล้วราว 3,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ในงวดปี 63 จะผลักดันให้สินค้าในกลุ่มไทยเบฟ ขึ้นเป็นผู้นำตลาด ทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเน้นการขยายธุรกิจและหาโอกาสการลงทุนทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน มีจำนวนประชากร กว่า 220 ล้านคน จากประชากรอาเซียนทั้งหมดกว่า 300 ล้านคน และยังมีนักท่องเที่ยวเข้าไปอีกจำนวนมาก โดยเศรษฐกิจที่ยังเติบโตในกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และคาดการณ์ประชากรในอาเซียน ภายในปี 68 ที่จะเพิ่มเป็น 700 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกกว่า 120 ล้านคน ก็นับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจแก่กลุ่มไทยเบฟด้วยเช่นกัน
สำหรับแผนลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ยังคงเน้นในแถบภูมิภาคอาเซียน ที่มีทั้ง 10 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน 7 ประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนที่เป็น Trade Market ส่วนตลาดเบียร์ก็มองตลาดในภูมิภาค CLMVT ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตได้ดี
ปัจจุบัน ยอดขายของบริษัทมีสัดส่วนจากในประเทศ 65% ในต่างประเทศ 35% ขณะที่สัดส่วนของเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ มีมากถึงเกือบ 80% ส่วนที่เหลือ 20% เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยในส่วนนี้เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีโอกาสเติบโตได้อีกมากตามการบริโภคประจำวัน
ทั้งนี้ กลุ่มไทยเบฟ จะก้าวเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจร ทั้งสุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นอันดับหนึ่งในตลาดภูมิภาคอาเซียน และก้าวสู่ผู้นำระดับโลก โดยปัจจุบันไทยเบฟ อยู่อันดับ 5 ของตลาดโลก
ส่วนผลประกอบการ 9 เดือนในปี 62 (ก.ย.61-มิ.ย.62) มียอดขายรวม 2.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.2% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 21% เป็น 36,265 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 21,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1%
นายฐาปน กล่าวอีกว่า จากวิสัยทัศน์ 2020 ได้กำหนดเรื่องสำคัญ 5 เรื่อง โดยในช่วง 3 ปีแรกเน้นเรื่องของ Growth การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และ Diversity ความหลากหลายของสินค้าและตลาด ซึ่งได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทย ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดสำคัญ เช่น เวียดนาม และเมียนมา โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้เน้นในเรื่อง Brand และ Reach ซึ่งก็คือ ฝ่ายการตลาด (Marketing) และการขาย (Sale) ให้ทำงานควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิดเพิ่มความข้าใจผู้บริโภคและการเข้าถึงลูกค้า
ภาพรวมในวิสัยทัศน์ 2020 ถือว่าสามารถขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทำให้กลุ่มไทยเบฟมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งส่งต่อให้สามารถพัฒนาแผนธุรกิจให้เป็น Business Plan ที่มองไปไกลถึงปี 2025 (พ.ศ.2568) ซึ่งจะเป็นแผน 3 ปี อีก 2 แผนของกลุ่มไทยเบฟเริ่มนับที่ 2020-2022 (พ.ศ.2563 -2565) เป็นแผน 3 ปีแรก และ 2022-2025 (พ.ศ.2565-2568) เป็นแผน 3 ปีที่สอง จะเห็นความเชื่อมโยงก้าวข้ามระหว่างปี 2020 (พ.ศ.2563) ไปยัง 2025 (พ.ศ.2568)
"อีก 4 ไตรมาสในปี 2020 เป็นปีที่มีความสำคัญกับเรา เพื่อให้การเติบโตในปี 2020 ที่จะเป็นฐานสำคัญให้กับธุรกิจ เติบโตไปสู่ปี 2025 หรือ 3 ปี 2 รอบรวมเป็น 6 ปี" นายฐาปน กล่าว
ด้านนายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทยและผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง ของไทยเบฟ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเบียร์ปีนี้มียอดขายเติบโต ก็นับเป็นจังหวะดีที่ไทยเบฟจะใช้โอกาสนี้บุกตลาดอย่างต่อเนื่องโดยการทำตลาดเชิงรุก แตกไลน์สู่ผู้บริโภคที่มีความชอบแตกต่างทั้ง Music -Food-Football และผลสำรวจล่าสุดจาก IPSOS พบว่า"ช้าง"เป็นแบรนด์เบียร์ อันดับ 1 ของไทยที่ผู้บริโภคจะเลือกดื่ม และล่าสุดเครื่องดื่มตราช้างทุ่มงบกว่า 1,100 ล้านบาทสนับสนุนสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยนาน 10 ปี (ปี 59-68)
นางสาวนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย ของไทยเบฟ กล่าวว่า ในงวดปี 63 ได้ตั้งงบลงทุน 1.1 พันล้านบาทใช้ขยายสาขาใหม่ที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่มี 59 สาขา และปรับปรุงร้านเดิม พร้อมทั้งจะนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย เช่น ฟู้ดดิลิเวอร์รี่ แอพโมบาย รวมทั้งจะมีการนำเสนอสินค้าใหม่เพิ่มเติมด้วย
ปัจจุบัน ไทยเบฟมีจำนวนร้าน 620 สาขา 23 แบรนด์ หลัก ๆ เป็น ร้าน KFC 300 สาขา ร้านโออิชิ 260 สาขา โดยคาดยอดขายเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในงวดปี 63