EA จับมือพันธมิตรกลุ่มขนส่งฯ เดินหน้าประกอบรถบัสไฟฟ้า-รถบรรทุกไฟฟ้าปี 63 ,ปิดดีลโซลาร์ในเวียดนาม Q4/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 4, 2019 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อร่วมดำเนินโครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจากในประเทศเข้ามาบ้างแล้ว และพร้อมที่จะเริ่มประกอบรถได้ในปี 63 หลังจากที่โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า และเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ "MINE" ทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าที่มียอดสั่งจองจำนวน 4,500 คันตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เป็นต้นไป

สำหรับโครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า จะอยู่ภายใต้บริษัท อีวีนาว จำกัด (EV Now) ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ที่จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 10,000 คัน/ปี ก็จะขยายสเกลขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นการรองรับการผลิตแบตเตอรี่ จากโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัท ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในกลางปี 63 ด้วย

"เรามีพันธมิตรที่ทำธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์อยู่แล้ว เป็นความร่วมมือกัน เราก็ win ในการขยายเอาแบตเตอรี่ไปใช้ในยานพาหนะอีกชนิดหนึ่ง จากเดิมแค่รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะไปที่รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้าได้ ก็เกื้อกูลกัน ใช้ facility โรงประกอบที่เรากำลังสร้างเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก็ขยายสเกลขึ้นมา...เราจะเริ่มประกอบในปี 63 ตอนนี้มีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว"นางออมสิน กล่าว

นางออมสิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดทั่วประเทศจำนวน 4 หมื่นคัน นับว่ายังน้อย แต่เชื่อว่าปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตตามทิศทางของตลาด ซึ่งบริษัทก็ได้เข้าร่วมธุรกิจดังกล่าวโดยได้ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ เฟสแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ด้วยเงินลงทุน 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า 40% ส่วนอีก 60% จะใช้สำหรับในระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) สำหรับธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเฟสแรกจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 63 หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาหนึ่งก่อนจะขยายเฟส 2 ต่อไป ขณะที่เป้าหมายการผลิตจะอยู่ที่ 50 GWh ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี เงินลงทุนรวมกว่าแสนล้านบาท

ส่วนโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะแล้วเสร็จก่อนโรงงานแบตเตอรี่นั้น ในช่วงแรกจะนำแบตเตอรี่จากพันธมิตรที่ไต้หวันเข้ามาใช้ในรถยนต์รุ่นแรกก่อน หลังจากนั้นจะใช้แบตเตอรี่จากโรงงานของบริษัทเพื่อประกอบรถยนต์ ส่วนมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า พันธมิตรจากไต้หวันจะเป็นผู้ออกแบบและส่งให้จีนผลิต ก่อนจะนำเข้ามายังโรงงานประกอบในไทย โดยแบตเตอรี่ของบริษัทจะมีอายุยาวนานกว่า 8,000 รอบ หากมีการชาร์จทุกวันก็คาดว่าแบตเตอรี่จะสามารถรองรับอายุการใช้งานได้ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ขณะที่การชาร์จแบตเตอรี่ 1 รอบ จะสามารถวิ่งได้ระยะทาง 200-250 กิโลเมตร

ด้านความคืบหน้าการผลิตเรือไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัดนั้น คาดว่าจะผลิตออกมาได้ในสิ้นเดือนต.ค.จำนวน 2 ลำ เพื่อที่จะทดลองระบบ ก่อนจะดำเนินการขออนุญาตประกอบการเรือโดยสารต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) นั้น ปัจจุบันมีอยู่กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีทั้งสิ้น 600-700 แห่ง และจะครบ 1,000 แห่งในปี 63 โดยการลงทุนเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทและพันธมิตรในสถานที่ตั้ง โดยเชื่อว่าต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทจะต่ำกว่ารายอื่น เพราะได้เข้าไปถือหุ้นกว่า 40% ใน GROWATT เพื่อผลิตอุปกรณ์ชาร์จในจีน ทำให้มีต้นทุนอุปกรณ์ชาร์จค่อนข้างต่ำ ปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในการให้บริการ EV Charging ได้เพราะต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราออกมาก่อน ดังนั้น รายได้จาก EV Charging ช่วงแรกจะมาจากการเก็บค่าจอดตามระยะเวลาในอัตราชั่วโมงละ 50 บาท และบางจุดก็เปิดให้บริการฟรี ซึ่งกำไรที่ได้ก็จะแบ่งสัดส่วนกันกับพันธมิตรในอัตราของบริษัทราว 80% และพันธมิตร 20% อย่างไรก็ตามคาดว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะเริ่มเห็นกำไรได้ในปี 63

นางออมสิน กล่าวด้วยว่า บริษัทยังเตรียมจะนำแบตเตอรี่จากโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัท ไปใช้เป็น Energy Storage ในระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ของกลุ่มบริษัทในต่างประเทศด้วย หลังปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ ในเวียดนาม คาดว่าจะสรุปได้ในไตรมาส 4/62 ส่วนการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ ในเมียนมา ซึ่งเป็นหลักร้อยเมกะวัตต์นั้น คาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง

สำหรับงบลงทุนในช่วง 2 ปีนี้ (ปี 62-63) ยังอยู่ในกรอบ 9.2 พันล้านบาท ซึ่งไม่รวมเงินลงทุนสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม หนุมาน ในไทย ที่ดำเนินการแล้วเสร็จแต่จะต้องจ่ายเงินลงทุนในปีนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่การขยายงานตามแผนดำเนินการนั้น เชื่อว่าจะผลักดันให้รายได้ในปีนี้ทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากราว 1.2 หมื่นล้านบาทปีก่อน และในปี 63 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเกิน 20% จากปีนี้ และเมื่อธุรกิจใหม่ ๆ เริ่มทยอยเข้าระบบ ก็น่าจะเริ่มเห็นสัดส่วนรายได้ของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ