ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่น่าพอใจของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนรายได้ที่เติบโตในระดับปานกลาง และภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดโครงการใหม่ที่มีมูลค่ามากขึ้น และการขยายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการกระจุกตัวของโครงการคอนโดมิเนียมราคาสูง ลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง ตลอดจนผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดเป็นที่น่าพอใจในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทยังมีสถานะทางการตลาดเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 4%-5% ของรายได้ทั้งหมดในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวน 22 รายที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง รายได้ของบริษัทในปี 2561 อยู่ที่ 1.56 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 25% จาก 1.25 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 รายได้อยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากบ้านจัดสรรที่ระดับราคาสูงกว่า 8 ล้านบาทต่อหลังคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 45% ของรายได้รวมในปี 2561 และช่วงครึ่งแรกของปี 2562
บริษัทมีแผนจะขยายสินค้าบ้านจัดสรรในระดับราคาปานกลางถึงล่างในช่วง 3-5 ล้านบาทต่อหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริหารมองว่าตลาดในกลุ่มนี้เป็นตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังคงมีศักยภาพในการเติบโตแม้ว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารจะสูงกว่าก็ตาม ซึ่งการขยายสินค้าไปในตลาดระดับราคาที่ต่ำกว่าเดิมจะช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทในระยะปานกลางได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะต้องคัดกรองลูกค้าให้มากขึ้นด้วย
รายได้เติบโตในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลางในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากฐานรายได้ที่อยู่ในระดับสูงและความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 รายได้จากโครงการบ้านจัดสรรยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 65% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมมีสัดส่วน 30% และธุรกิจให้เช่าและบริการมีสัดส่วน 5% ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (อัตราส่วนกำไร) คาดว่าจะรักษาระดับอยู่ที่ 15%-18%
การมีฐานรายได้ที่แข็งแกร่งในตลาดบ้านจัดสรรและยอดขายรอรับรู้รายได้ในระดับปานกลางน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทได้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมียอดขายรอการส่งมอบประมาณ 1.06 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่ายอดขายบ้านจัดสรร 2.1 พันล้านบาทและมูลค่ายอดขายคอนโดมิเนียมอีก 8.5 พันล้านบาท โดยยอดขายบ้านจัดสรรจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2562 ส่วนยอดขายคอนโดมิเนียมที่จะทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้านั้นมีมูลค่า 3.9 พันล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ประมาณ 3.2 พันล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 1.4 พันล้านบาทในปี 2565
การกระจุกตัวของโครงการคอนโดมิเนียมราคาสูง บริษัทมีสินค้าที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีระดับราคาสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ของบริษัทจะอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพสูง ฉะนั้นเงินลงทุนในแต่ละโครงการจึงมีมูลค่าสูงตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น โครงการคอนโดมิเนียมยังต้องใช้เวลาในการพัฒนานานหลายปี ดังนั้น หากบริษัทมียอดขายที่ช้าก็จะส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานยิ่งขึ้น
ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีโครงการพร้อมขายจำนวน 48 โครงการ โดยมีมูลค่าเหลือขายประมาณ 4.18 หมื่นล้านบาท ราคาเฉลี่ยต่อยูนิตอยู่ที่ 11.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 10 โครงการ มูลค่า 1.63 หมื่นล้านบาท และมีราคาเฉลี่ยต่อยูนิตอยู่ที่ 16.8 ล้านบาท นอกจากนี้ 4 ใน 10 โครงการ ("ศาลาแดง" "วัน บีทนิค" "28 ชิดลม" และ "สโคป หลังสวน") ยังมีสัดส่วนถึง 88% ของมูลค่าเหลือขายของคอนโดมิเนียมและมีราคาเฉลี่ยต่อยูนิตอยู่ที่ 28 ล้านบาทอีกด้วย
บริษัทยังมีแผนจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ซึ่งมีราคาอยู่ในระดับบนอีก 2 โครงการโดยมูลค่าโครงการรวมประมาณ 5.0-5.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2562-2563 ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังได้ร่วมลงทุนกับ Nishi-Nippon Railroad Co., Ltd. (NNR) เพื่อพัฒนาและเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียม "The Crest Park Residences" ในปีนี้ด้วย โดยโครงการมีมูลค่า 3.5 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทลงทุนในสัดส่วน 55% และ NNR ลงทุนในสัดส่วน 45%
ภาระหนี้จะทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในระยะสั้นถึงปานกลาง ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทได้ซื้อที่ดินเพิ่มและเปิดขายโครงการใหม่จำนวนมากขึ้นทั้งโครงการบ้านจัดสรรและโครงการคอนโดมิเนียมราคาระดับบน ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 58.2% จาก 53.9% ณ สิ้นปี 2561 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทได้ตั้งงบประมาณซื้อที่ดินไว้ที่จำนวนประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปีโดยวางแผนจะเปิดโครงการใหม่ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.8-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
บริษัทยังมีแผนในการเพิ่มรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าเป็น 7%-10% ของรายได้รวมอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าหลัก ๆ จากอาคารสำนักงานให้เช่าจำนวน 4 อาคารอยู่ที่ 800-850 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของรายได้รวม เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า บริษัทจึงมีแผนจะลงทุนในอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยงบลงทุนจำนวน 3 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า รวมทั้งยังมีแผนจะขยายไปสู่ธุรกิจโรงแรมโดยตั้งงบลงทุนไว้อีกจำนวน 3 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าอีกเช่นกัน
ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าจะช่วยให้บริษัทมีสินค้าเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งยังจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของบริษัทก็อาจจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงของการลงทุน ภายใต้สมมติฐาน ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 50%-60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากแผนของบริษัทที่จะเปิดโครงการใหม่มูลค่าประมาณ 1.8-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าอีกประมาณ 1.5-1.8 พันล้านบาทต่อปี
ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความผันผวนและมีการแข่งขันที่รุนแรง แม้ว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมากแต่ก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดสินค้าราคาปานกลางถึงต่ำ อีกทั้งการนำเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของ ธปท.มาบังคับใช้นั้นก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายที่อยู่อาศัยในระยะสั้นด้วย ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสาหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าการบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นมาตรการใหม่ของ ธปท. นั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทเป็นผู้บริโภคสินค้าที่อยู่อาศัยราคาระดับกลางถึงสูงซึ่งมีกำลังซื้อที่ยืดหยุ่น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาสูงก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีผู้ประกอบการที่ขยายเข้ามาสู่ตลาดนี้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น บริษัทจึงควรบริหารจัดการการเปิดโครงการใหม่อย่างระมัดระวังเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ปัจจุบันบริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มสินค้าในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาระดับล่างที่ยังมีความต้องการสูง อย่างไรก็ตาม อัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารสำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาระดับล่างนี้ก็อยู่ในระดับสูงด้วย ดังนั้น บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนการคัดกรองลูกค้ามากให้มากยิ่งขึ้น
สภาพคล่องที่สามารถบริหารจัดการได้ บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.33 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยตั๋วแลกเงินจำนวน 3.8 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นจำนวน 4.8 พันล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 2.5 พันล้านบาท และเงินกู้โครงการอีก 2.2 พันล้านบาท โดยบริษัทได้ใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นเกือบทั้งหมดไปในการซื้อที่ดินและจะเปลี่ยนเป็นเงินกู้โครงการ ในการนี้ บริษัทมีแผนจะชำระคืนเงินกู้โครงการด้วยกระแสเงินสดที่จะได้รับจากการโอนโครงการที่แล้วเสร็จให้แก่ลูกค้าและจะชำระคืนหุ้นกู้ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
แหล่งสภาพคล่องของบริษัทนั้นประกอบด้วยเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาทและมีวงเงินกู้โครงการจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 5.2 พันล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7-2.0 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวนมาก ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะบริหารสภาพคล่องด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 7%-10% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 3.5 เท่า เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่สำคัญของเงินกู้ที่มีกับธนาคารและหุ้นกู้ บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.46 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2562
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งมีดังนี้
บริษัทจะเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2562 รวมมูลค่า 2.20 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยคอนโดมิเนียมมูลค่า 1.43 หมื่นล้านบาท และโครงการบ้านจัดสรรโครงการใหม่มูลค่า 7.70 พันล้านบาท และในอนาคตยังคาดว่าบริษัทจะเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่าประมาณ 1.50-2.00 หมื่นล้านบาทต่อปีด้วย
รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.7-1.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 โดยสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายจะอยู่ที่ 95% ในขณะที่ส่วนที่เหลือมาจากรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า
งบประมาณในการซื้อที่ดินของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี
งบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่าจะอยู่ที่ 1.5-1.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและฐานะการเงินเอาไว้ได้ในระยะปานกลาง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 15% แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการขยายธุรกิจอย่างมาก บริษัทก็จำเป็นจะต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเอาไว้ให้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากระดับปัจจุบัน หรือหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่า 60% เป็นเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-15% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ได้อย่างต่อเนื่อง