โบรกฯเชียร์ "ซื้อ"KBANK หลังราคาลงมาจน Valuation ถูก ขณะคาดกำไร Q3/62 โตจากลดการตั้งสำรองฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 4, 2019 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองราคาหุ้นน่าสนใจในแง่ของ Valuation ถูกหลังปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้ว ขณะคาดกำไรไตรมาส 3/62 ในช่วง 9,972-10,400 ล้านบาท เติบโตจาก 9,744 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้เผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลลบช่วงสั้นกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) โดยการเติบโตมาจากการตั้งสำรองฯ ลดลงเป็นหลักช่วยชดเชย NIM ที่แคบลง สินเชื่อก็ยังเติบโต และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็เติบโตขึ้นด้วย

สำหรับไตรมาส 3/62 คาดสินเชื่อเติบโต 1-1.5% จากไตรมาสก่อน แต่ 9 เดือนแรกปีนี้เติบโตแค่ 2.4-2.5% ห่างจากเป้าทั้งปีที่ 5-7% จึงยังต้องลุ้นในไตรมาส 4/62 แต่ก็มีปัจจัยบวกจากช่วงฤดูกาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งปี 62 คาว่ากำไรของ KBANK จะอยู่ในช่วง 39,331-39,600 ล้านบาท ขยายตัว 2.3-2.9% จากปีก่อน จากการตั้งสำรองฯลดลงหลังจากที่ตั้งเผื่อไว้ค่อนข้างมาก อีกทั้งสินเชื่อก็ยังโตได้

ช่วงบ่ายหุ้น KBANK อยู่ที่ 149.50 บาท ลดลง 1 บาท หรือ 0.66% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.01%

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           228
          อาร์เอชบี (ประเทศไทย)              ซื้อ                           212
          ทิสโก้                             ซื้อ                           200
          ฟินันเซีย ไซรัส                      ซื้อ                           184
          หยวนต้า (ประเทศไทย)               ซื้อ                           198

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า คาดการณ์กำไรของ KBANK งวดไตรมาส 3/62 ประมาณ 10,000 ล้านบาท เติบโต 3-4% จากไตรมาส 3/61 ที่มีกำไร 9,700 ล้านบาท คาดว่าจะตอบรับการตั้งสำรองฯที่ลดลง และสินเชื่อก็ยังขยายตัวได้

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/62 คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 1.5% แต่หากมอง 9 เดือนแรกปีนี้ KBANK มีการเติบโตของสินเชื่อแค่ 2.5% ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5-7% ดังนั้น ในไตรมาส 4/62 ก็ยังต้องลุ้นว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ไตรมาส 4/62 มีปัจจัยบวกจากช่วงฤดูกาล และยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ดี รายได้ของ KBANK ปีนี้ไม่ค่อยจะเข้าเป้าหมายมากนัก เป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การขยายสินเชื่อยาก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ดีต่อแบงก์ช่วงสั้น เพราะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง

แต่ปีนี้กำไรของ KBANK คาดว่าจะขยายตัวได้ 5-6% จากการตั้งสำรองฯที่ลดลง เพราะ KBANK มีการตั้งสำรองฯเผื่อเหลือไว้ค่อนข้างมากอยู่แล้ว อีกทั้งสินเชื่อก็ยังขยายตัวได้บ้าง ส่วนราคาหุ้น KBANK ตอนนี้ก็น่าสนใจหลังจากที่ได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากแล้ว ตอนนี้ก็เพียงรอเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อไร

ด้านนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น KBANK ในปัจจุบันถือว่าน่าสนใจในแง่ของ Valuation ที่ถูก

ขณะที่กำไรงวดไตรมาส 3/62 ทรงตัว โดยคาดว่าจะมีกำไร 9,972 ล้านบาท เติบโต 2.3% จากงวดปีก่อน และเติบโต 0.4% จากไตรมาสก่อน หลัก ๆ มาจากการตั้งสำรองฯลดลง ช่วยชดเชย NIM ที่แคบลงหลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน ส.ค.และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็เติบโตขึ้นด้วย ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อและบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของพอร์ต ส่วนสินเชื่อในไตรมาส 3/62 ของ KBANK ก็มีการเติบโต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1% จากไตรมาสก่อน

พร้อมคาดปี 62 KBANK จะมีกำไรสุทธิ 39,331 ล้านบาท เติบโต 2.3% จากปีที่แล้ว

ส่วน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดกำไรไตรมาส 3/62 ของ KBANK จะมี 10,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อ รายได้ค่าธรรมเนียมอาจจะยังทรงตัว แต่การตั้งสำรองฯที่ลดลงจะทำให้กำไรเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ขณะที่รายได้อย่างอื่น รวมถึงค่าใช้จ่าย และการตั้งสำรองทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อในไตรมาส 3/62 จะเติบโตได้ 1.1% จากไตรมาสก่อนที่เติบโตเพียง 0.98% เมื่อเทียบรายไตรมาส และทำให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นปี 62 จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 61 เพียง 2.4% ซึ่งยังคงห่างจากเป้าทั้งปี 62 ที่ทาง KBANK ตั้งไว้ที่ 5-7% อยู่พอควร

อย่างไรก็ดี ยังคงประมาณการกำไรปี 62 ของ KBANK ไว้ที่ 39,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากปีที่แล้ว โดย KBANK อาจจะยังได้รับผลกระทบจากค่าธรรมเนียมที่ลดลง แต่การลดลงของการตั้งสำรองฯยังทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ