PTT ลงทุนกว่าพันล้านบาท ขายไฟฟ้าและไอน้ำให้โรงกลั่น BCP

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 25, 2008 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า PTT จะลงทุนกว่าพันล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการผลิตสาธารณูปการ ด้วยการผลิตจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับหน่วยผลิตของโรงกลั่นเดิมและรองรับการขยายโครงการ Hydro Cracking Unit ใหม่ของ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552
โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้ระบบผลิตไฟฟ้าแบบพลังงานร่วม Combine Heated and Power(CHP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ประกอบด้วยเครื่องกังหันก๊าซฯ จำนวน 2 ชุด มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 25 เมกกะวัตต์ เครื่องผลิตไอน้ำจากไอเสีย(Heat Recovery Steam Generator) มีกำลังผลิต 90 ตันต่อชั่วโมง และได้เสริมสร้างความมั่นคงของระบบ โดยทำการติดตั้งหม้อไอน้ำสำรอง(Auxiliary Boiler) ขนาด 48 ตันต่อชั่วโมง ที่สามารถผลิตไอน้ำทดแทนได้ทันทีกรณีที่ต้องหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าฯ อย่างกระทันทัน เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสำหรับโรงกลั่น BCP ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตรวมของระบบ CHP ประมาณ 80%
ทั้งนี้ หลังเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบ 25 ปี PTTจะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการฯ ให้ BCP โดย BCP จะรับผิดชอบในการจัดหาพื้นที่ให้ PTT สร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุโครงการฯ
ด้าน นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน(Product Quality Improvement Project:PQI) มีความคืบหน้าไปกว่า 75% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนในปลายปี 2551นี้ ซึ่งเมื่อโครงการ PQI แล้วเสร็จจะทำให้โรงกลั่นน้ำมัน BCP มีระบบการกลั่นเป็นแบบ Complex Refinery ด้วยเทคโนโลยี Hydro Cracking ที่ทันสมัย
ล่าสุด โรงกลั่นน้ำมัน BCP สามารถผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลที่มีมูลค่าสูงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น รองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ BCP มีรายได้มากขึ้น และเมื่อโครงการผลิตสาธารณูปการดังกล่าวเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงกลั่นน้ำมัน BCP ได้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแล้วยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ BCP ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงปีละ 200-300 ล้านบาท โดยมูลค่าการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า เป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกันในการดำเนินโครงการผลิตสาธารณูปการ ด้วยการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศจากการขยายประโยชน์การใช้ก๊าซธรรมชาติในลักษณะ CHP ที่สามารถใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าพลังงานได้ทางหนึ่ง
ปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานในลักษณะ CHP ทั้งในภาคอุตสาหกรรม(โรงงานอุตสาหกรรม/โรงกลั่น) และพาณิชย์กรรม(อาคารขนาดใหญ่ และสนามบิน) ซึ่งหากสามารถขยายการใช้พลังงานในลักษณะ CHP ได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการช่วยให้ประเทศประหยัดค่าพลังงานโดยรวมในรูปของการลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงสุด, ลดการลงทุนในระบบสายส่งรวมทั้งการสูญเสียพลังงานจากระบบสายส่ง(Transmission loss) ได้อีกทางหนึ่งด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ