นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการหาพันธมิตรเข้าร่วมทุนเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์ ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ ใน จ.ราชบุรีนั้น น่าจะสามารถสรุปได้ภายในปีนี้
ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด เพราะยังมีระยะเวลาก่อนที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67-68 ซึ่งบริษัทก็ไม่ได้เจรจากับ บมจ.ปตท. (PTT) เพียงรายเดียว แต่ได้เปิดกว้างเจรจากับรายอื่นที่มีโอกาสนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ ของกระทรวงพลังงาน ทำให้อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าจะได้ข้อสรุป
ด้านความคืบหน้าของโครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยคาดว่าจะได้รับอนุม้ติ EIA ภายในปี 63
"เราไม่ได้เจรจากับ ปตท.เจ้าเดียว แต่เจรจาหลายเจ้าเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด เพราะตามนโยบายกระทรวงพลังงานเขาเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซฯอยู่แล้วก็สามารถเจรจาได้หลายเจ้าเพราะเป็น Third Party ก็ต้องใช้เวลาเจรจาพอสมควรถึงจะได้ข้อสรุป"นายกิจจา กล่าว
อนึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.58 ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงบมจ.ปตท. (PTT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ขณะที่บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เคยยื่นขอใบอนญาตดังกล่าวจากกกพ. เมื่อปี 60 แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ
นายกิจจา กล่าวว่า ส่วนแผนการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ยังคงดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นกิจการโรงไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง และโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงมองหาโอกาสประมูลโครงการใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะให้ความสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบในเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา และคาดว่าในปีหน้าจะเห็นความชัดเจน
ส่วนกรณีที่บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งโดยกล่าวอ้างว่าบริษัท ละเมิดความลับทางการค้าของโจทก์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ที่สปป.ลาว เป็นเงินวงเงิน 6,457 ล้านบาทนั้น บริษัทจะยื่นข้อมูลหลักฐานต่อศาลในต้นเดือนต.ค.นี้ และในเดือนถัดไปคาดว่าศาลฯจะเรียกโจทก์มาไต่สวน ซึ่งบริษัทยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา จึงไม่ได้มีการตั้งสำรองเงินหรือบันทึกประมาณการหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ในบัญชีของบริษัทแต่อย่างใด
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าหงสา เดินเครื่องผลิตมีประสิทธิภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 85-86% ของกำลังการผลิต และในปี 63 จะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าใหญ่ราว 50-60 วัน