น.ส.สุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการบริหาร บมจ.จี สตีล (GSTEEL) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทฯ ว่า บริษัทฯ เตรียมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2562 ในวันที่ 11 ต.ค.62 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมออกเสียงสนับสนุนโครงการแปลงหนี้เป็นทุน ให้แก่เจ้าหนี้รวมจำนวน 8 ราย โดยมียอดหนี้รวมที่จะทำการแปลงเป็นทุนในครั้งนี้ จำนวนประมาณ 9,277 ล้านบาท คิดเป็น 48.99% ของหนี้สินทั้งหมด ราคาแปลงหนี้เป็นทุน 0.19 บาทต่อหุ้น ส่วนดอกเบี้ยคงค้างและภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะได้รับการปลดหนี้ เป็นจำนวน 5,032 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากโครงการแปลงหนี้เป็นทุน อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (D/E) เปลี่ยนแปลงจาก ติดลบ 4.89 เท่า พลิกกลับมาบวก 1.79 เท่า ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงจาก ติดลบ 3,850 ล้านบาท พลิกกลับมาบวกเป็น 5,377 ล้านบาท
โดยงบการเงินเฉพาะกิจการ สิ้นสุด วันที่ 30 มิ.ย.62 บริษัทฯ มีบันทึกหนี้สินรวมสูงมากจำนวน 18,833 ล้านบาท ในขณะที่มีส่วนทุนติดลบ 3,850 ล้านบาท ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นบริษัทไม่เหมาะสมที่จะดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
พร้อมกันนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.60 ไม่อนุมัติการเข้าทำรายการแปลงหนี้เป็นทุน ต่อมาในปี 2561 บริษัทหาทางแก้ไขในการรักษากิจการจากความเสี่ยงจากการถูกยึดทรัพย์จากเจ้าหนี้ บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง แต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอ และปี 62 บริษัทได้เจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่บางราย เพื่อขอให้ทำการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาส่วนทุนที่ติดลบตั้งแต่ปี 60 ให้กลับมาเป็นบวกโดยเร็ว ก่อนที่หุ้นของบริษัทอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตามในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งนี้ GSTEEL ได้ขอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาทั้ง 3 เงื่อนไข ได้แก่ การแปลงหนี้เป็นทุน ที่ราคา 0.19 บาทต่อหุ้น, การขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ (whitewash) และการแต่งตั้งกรรมการใหม่ 5 คนเข้าร่วมบริหารงานของบริษัท เพื่อให้โครงการแปลงหนี้เป็นทุนประสบความสำเร็จ
น.ส.สุนทรียา กล่าวว่า สำหรับกรณีการนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง บริษัทฯ คาดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการพิจารณาปลดเครื่องห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว (SP) ได้หลังจากที่บริษัทฯ ส่งงบงวดไตรมาส 3/62 ตามเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการส่งงบดังกล่าวได้ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP กรณีการส่งงบการดำเนินงานล่าช้า เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 16 พ.ค.61 เป็นต้นมา
นอกจากนี้บริษัทฯ คาดทิศทางการดำเนินงานภายหลังปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวสำเร็จแล้ว จะส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้พลิกกลับมาเป็นบวก หรือมีกำไรทางบัญชีประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 605 ล้านบาท ขณะที่ก็คาดว่ารายได้ปีนี้น่าจะทำได้ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท เนื่องจากเพิ่งเริ่มกลับมาผลิตเหล็กได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/62 โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 ตัน/เดือน หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้ประมาณ 89 ล้านเหรียญฯ จากกองทุนต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการผลิต โดยสามารถรองรับการผลิตเหล็กได้ในปริมาณ 65,000 ตัน/เดือน จากกำลังผลิตรวมราว 1 แสนตัน/เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ EBITDA ปีนี้ติดลบน้อยลง หรือใกล้เคียงศูนย์ และคาดปี 63 EBITDA น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ หลังสามารถเดินเครื่องผลิตได้ตามเป้าหมายที่ 65,000 ตัน/เดือน
ส่วนรายได้ในปี 63 บริษัทฯ คาดว่าจะเติบโตเป็น 11,000-12,000 ล้านบาท จากยอดขายที่คาดว่าจะทำได้ 65,000 ตัน/เดือน ในระดับราคาขายที่ 16,500-17,000 บาท/ตัน และการขยายตลาดใหม่ๆ โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น กลุ่มถังบรรจุก๊าซ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่นในการเพิ่มไลน์สินค้าเหล็กรีดเย็น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ช่วงต้นปี 63