บล.ไอร่า มอง SET ต.ค.ผันผวนรับปัจจัยภายนอกกดดัน แม้"ชิม ช้อป ใช้"หนุน Sentiment เชิงบวกคึกคัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 8, 2019 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย บล.ไอร่า (AIRA) ประเมินทิศทางตลาดและกลยุทธ์การลงทุนช่วงเดือนตุลาคมว่า ยังคงผันผวนต่อเนื่อง จากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญของการลงทุน โดยให้กรอบสัญญาแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,599 จุด หากหลุดแนวรับดังกล่าว จะถือเป็นสัญญาณขาย นอกจากดัชนีจะสามารถเด้งกลับไปยืนเหนือ 1,620 จุดได้

ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้ความกังวลต่อสงครามการค้าครั้งใหม่ ระหว่างสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป (อียู) และอยู่ระหว่างติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในวันที่ 10-11ต.ค. หากมีความชัดเจนและส่งสัญญาณดี คาดเป็นปัจจัยหนุนภาพรวมตลาดฯ แต่ในทางกลับกันหากยังไม่สามารถตกลงกันได้ คาดว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ อาจจะทวีคูณเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะกดดันภาพรวมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในวันที่ 15 ต.ค. 62 จะครบกำหนดสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน วงเงิน 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 25% เป็น 30% และวันที่ 18 ต.ค. 62 สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอียู วงเงิน 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวในข้างต้น ยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญ ในการสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากสงครามการค้า หากมีความยืดเยื้อ

พร้อมกันนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจับตากรณีปัจจัยหนุนจากการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 20,000 ล้านยูโร/เดือน เริ่มตั้งแต่ พ.ย.62 เป็นต้นไป พร้อมติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 29-30 ต.ค. 62 ก็มีโอกาสสูงที่เฟด อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุดอ่อนแอ

"ภายใต้ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงประเด็นสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน พร้อมกับข้อพิพาททางการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และอียู คาดยังกดดันหุ้นในกลุ่ม Global Play เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน ที่คาดความต้องการชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ"ฝ่ายวิจัยฯ ระบุ

ฝ่ายวิจัยฯ ระบุอีกว่า สำหรับปัจจัยในประเทศในช่วงเดือนนี้ยังคงมีแรงเก็งกำไรจากเรื่องผลประกอบการงบไตรมาส 3/62 ที่จะปิดงบการเงิน และจะทยอยแจ้งออกมา ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีแรงเก็งกำไรในเรื่องดังกล่าวต่อเนื่องถึงกลางช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ นอจากนี้ ยังแนะให้จับตาความเป็นไปได้ที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มอันดับ Credit Rating ไทย ช่วงปลายปี ถึงต้นปี 63

สำหรับขณะที่มาตรการ"ชิม ช้อป ใช้" ก็เข้ามาสร้าง Sentiment เชิงบวก ในภาคการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/62 ได้ประมาณ 0.2-0.3% พร้อมกันนี้ ยังมีการออกมาคาดการณ์ว่ารัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง เพื่อช่วยชดเชยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง รวมถึงการส่งออกหดตัว ในขณะเดียวกันจากภาพรวมของการประเมินมีหลาย ๆ ฝ่าย ออกมาคาดการณ์ปรับเป้าหมาย GDP ในปี 62 ลง โดยมองว่ามีแนวโน้มต่ำกว่า 3.0%

ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้น จะเห็นได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วงเดือนส.ค. 62 อยู่ที่ 3.47 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก.ค 62 โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีน 1.03 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก.ค 62 ประมาณ 6% ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัว โดยล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 26.56 ล้านคน ทำให้มองว่าภายในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว ประมาณ 40 – 41 ล้านคน ซึ่งเป็นเป้าหมายการเติบโตที่รัฐบาลประเมินไว้

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ แนะลงทุนหุ้นกลุ่ม ที่สามารถรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่มีความผันผวน เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นต้น และทยอยสะสมหุ้นเชิงพื้นฐานที่ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องในปี 63 ซึ่งมีหุ้นที่น่าสนใจ อาทิ BBL โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 209 บาท , CBG ราคาเป้าหมาย (ปี 63) ที่ 91 บาท , CPN ราคาเป้าหมายที่ 90 บาท, GPSC ราคาเป้าหมายที่ 76 บาท, SPA ราคาเป้าหมายที่ 17.20 บาท และ STEC ราคาเป้าหมาย (ปี 63) ที่ 27.25 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ