PTT คาดบาทแข็งค่าทุก 1 บ.กระทบผลประกอบการ 2 พันลบ.พร้อมเริ่มมองแหล่งเงินกู้รองรับแผนลงทุนปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 15, 2019 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.ที่มีรายได้ส่วนใหญ่อิงสกุลดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีเงินกู้บางส่วนที่อิงสกุลดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวกัน ก็ทำให้เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยธรรมชาติ (natural hedge) แต่ก็สามารถชดเชยได้บางส่วน โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท/ดอลลาร์ กระทบต่อผลการดำเนินงานราว 2 พันล้านบาท

"ปตท.ชอบบาทอ่อน เราบริหารจัดการ โดย natural hedge เราบริหารยอดหนี้ให้ใกล้เคียงกับดอลลาร์ลิงค์ เมื่อบาทอ่อน ฝั่ง debt ไม่ดี แต่รายได้ดี เมื่อบาทแข็ง ฝั่ง debt ดี แต่รายได้ไม่ดี...บาทแข็งทุก 1 บาทกระทบงบ consolidate ประมาณ 2 พันล้านบาท แม้เราจะมีการบริหารจัดการเป็น natural hedge แต่ก็ไม่ได้ 100%" นางสาวพรรณนลิน กล่าว

อนึ่ง ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากระดับปลายปี 61 อยู่ที่ราว 32.28 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ราว 30.40 บาท/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน หรือแข็งค่าราว 5.7% ณ สิ้นเดือน มิ.ย.62 ตามงบการเงินรวมของ ปตท.มีภาระหนี้ 4.97 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ภาระหนี้สกุลเงินบาท 3.09 แสนล้านบาท หรือราว 62% และสกุลดอลลาร์สหรัฐและอื่น ๆ 1.88 แสนล้านบาท หรือราว 38%

นางสาวพรรณนลิน กล่าวอีกว่า สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็ช่วยเอื้อให้เกิดการเร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการลงทุนของ ปตท.มีบางส่วนที่ต้องนำเข้าสินค้าและอุปกรณ์จากต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตามการใช้เงินของ ปตท.ในปี 62 มีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มทุนใน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ราว 1.7 หมื่นล้านบาท และในจ่ายภาษีสำหรับการขายสินทรัพย์ให้บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ราว 1.6 หมื่นล้านบาท รวมถึงการจ่ายคืนเงินกู้ราว 2.6 หมื่นล้านบาท ตลอดจนมีการลงทุนอื่น ๆ อีกตามปกติ ทำให้เงินสดเฉพาะของปตท.ปรับตัวลงสู่ระดับปกติอยู่ที่ราว 6 หมื่นล้านบาท

ในปี 63 ปตท.มีแผนจะใช้เงินเพื่อรองรับการลงทุนตามแผนงาน และงบลงทุนในอนาคต (Provision) ทำให้ปตท.เริ่มพิจารณาการจัดหาเงินกู้ใหม่ หลังจากที่ไม่ได้กู้เงินเพื่อลงทุนมาหลายปีแล้ว แต่ยังต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งในส่วนแผนการใช้เงินในโครงการต่าง ๆ หลังมีโครงการต่อเนื่องเรื่องการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นต้น ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ยังจัดอยู่ในงบลงทุนในอนาคต ขณะที่การใช้คืนเงินกู้ในปี 63 ยังไม่มากนัก รวมถึงพิจารณาเรื่องการนำหุ้น OR เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมาประกอบด้วย เพราะอาจมีผลต่อการจัดหาเงินทุนของปตท. ส่วนวิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบใดต้องพิจารณาเปรียบเทียบให้มีความเหมาะสมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ