สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำความรู้จักลูกค้า (แนวทางปฏิบัติ e-KYC) เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติ รองรับผู้ประกอบธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (National Digital ID : NDID) โดยขยายเวลามีผลใช้บังคับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้เป็นวันที่ 1 มกราคม 2564 เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการพัฒนาระบบ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานการยืนยันตัวตน
ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติ e-KYC หลังจากที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้นในเรื่องการตรวจสอบหลักฐานประเภทบัตรประชาชนตลอดชีพ การเปิดบัญชีกรณีลูกค้านิติบุคคล หรือการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าที่ทำธุรกรรมแบบครั้งคราว เป็นต้น และเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมทดสอบระบบในโครงการ NDID มีเวลาในการทดสอบและพัฒนาระบบที่เพียงพอ ก.ล.ต. จึงเห็นควรขยายเวลาของการมีผลใช้บังคับออกไปอีก 1 ปี เป็นวันที่ 1 ม.ค. 2564
นอกจากนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการยืนยันตัวตน (Authentication) สำหรับการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงบนระบบออนไลน์ให้มีความน่าเชื่อถือที่มากขึ้น เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์ การฝาก-ถอนเงินสด หรือการขอเปลี่ยนรหัสผ่านในการเข้าใช้ระบบ ก.ล.ต. จึงเห็นควรให้มีการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน (Authenticator Assurance Level: AAL) สำหรับธุรกรรมเสี่ยงดังกล่าวเป็นมาตรฐานขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ AAL 2.1 ส่วนธุรกรรมอื่นกำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ระดับ AAL 1
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติ e-KYC ดังกล่าว ที่ www.sec.or.th/hearing ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: benja@sec.or.th จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562