นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ "บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ"ว่า การนำมาตรฐานการบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่มาใช้ในปี 63 โดยเฉพาะมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 (TAS 32) จะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ซึ่งจะถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และในที่สุดทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงตามไปด้วย
ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออก Perpetual Bond มูลค่าคงค้างประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท (ณ 30 ก.ย.62) ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการส่วนใหญ่จะต้องการใช้เงินลงทุนสูง แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงิน เพราะเกรงจะกระทบกับ D/E และส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงตามไปด้วย จึงหันมาออกหุ้นกู้ที่ประเภทนี้ เนื่องจากไม่กระทบ D/E และยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้อีกด้วย