นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ "บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ"ว่า การนำมาตรฐาน การบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่มาใช้ในปี 63 โดยเฉพาะมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 (TAS 32) จะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนไทย ขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ซึ่งจะถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และในที่สุดทำให้ต้นทุนทางการเงินสูง ตามไปด้วย
ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออก Perpetual Bond มูลค่าคงค้างประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท (ณ 30 ก.ย.62) ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการส่วนใหญ่จะต้องการใช้เงินลงทุนสูง แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงิน เพราะ เกรงจะกระทบกับ D/E และส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงตามไปด้วย จึงหันมาออกหุ้นกู้ที่ประเภทนี้ เนื่องจากไม่กระทบ D/E และยัง ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้อีกด้วย
บริษัทผู้ออก มูลค่า D/E ratio (ล้านบาท) TAS 107 TAS 32 (Currently) บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) 23,788 2.24 3.61 บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 21,743 0.58 0.68 บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 19,909 2.78 3.74 บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 15,000 1.95 2.17 บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 14,874 1.67 1.97 บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) 6,000 1.56 2.75 บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) 508 2.64 2.76 บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) 500 4.08 4.95
นายชาญชัย กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ลักษณะที่สำคัญของ Perpetual Bond มี 2 ประการ คือ 1) ไม่มีกำหนดการชำระคืน เงินต้นที่แน่นอน กล่าวคือ ผู้ถือไม่มีสิทธิไถ่ถอน สิทธิการไถ่ถอนอยู่ที่ผู้ออกหุ้นกู้ และ 2) มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิใน การเลื่อนชำระดอกเบี้ยออกไปได้
ทั้งนี้ TAS 32 ฉบับใหม่ได้ให้คำอธิบายการพิจารณาจัดประเภทตราสารว่า จะเป็นหนี้ หรือทุนชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า ถ้าการ ชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนสะสมจนทำ ให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน กรณีเช่นนี้ จะต้องแสดง Perpetual Bond เป็นหนี้สิน เว้นแต่มีการชำระเงินต้น และดอกเบี้ย เพราะกิจการได้ชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ (Liquidation) ไม่ว่าโดยสมัครใจ หรือโดยผลของกฎหมายล้มละลาย (กรณี ศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย) ตราสารนั้นจะถูกจัดประเภทเป็นทุน
แต่ปัจจุบันหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งที่อยู่ในตลาดนั้น มีการระบุเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็น เงื่อนไขที่กิจการไม่อาจควบคุมได้ คือ บริษัทจะชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยในกรณีที่ 1) บริษัทผู้ออกเลิกกิจการ 2) ล้มละลาย 3) เข้าสู่ แผนฟื้นฟูกิจการ และ 4) ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร ซึ่งจะเห็นว่า หากบริษัทเกิดกรณีตามเงื่อนไขข้อที่ 3 และ 4 อาจทำให้ไม่สามารถเลื่อนการ ชำระคืนเงินต้นหรืออัตราดอกเบี้ยออกไปได้ นั่นจึงทำให้หุ้นกู้ดังกล่าว ควรจะต้องถูกจัดประเภทเป็นหนี้สินแทน
สำหรับแนวทางการรับมือกับ TAS 32 นั้น บริษัทผู้ออกสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ แก้ไขสัญญาหุ้นกู้ หรือไถ่ถอนแล้วออกหุ้น กู้รุ่นใหม่ทดแทน แต่ทั้ง 2 แนวทางมีสิ่งที่บริษัทต้องพึงพิจารณาทั้งภาระค่าใช้จ่ายที่สูงและระยะเวลาในการดำเนินการขั้นต่ำ 2-3 เดือน ซึ่ง คาดว่า บริษัทไม่น่าจะสามารถดำเนินการเสร็จได้ทันภายใน 1 มกราคม 2563
"มาตรฐาน TAS 32 ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีหุ้นกู้เหล่านี้คงค้างอยู่ โดยปัจจุบัน สภาวิชาชีพบัญชีอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางยกเว้น หรือผ่อนผันให้กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนที่ออกและมียอดคงค้างอยู่ไม่ต้องมีการจัดประเภท ใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทและนักลงทุนต้องติดตามว่าโดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อ ทุนสูงขึ้นมากและอาจส่งผลให้เจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมของบริษัท เช่น ธนาคารพาณิชย์ มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินกู้ซึ่งเดิมยังไม่ถึงกำหนดชำระ ได้ในทันที เนื่องจากผิดข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้เรื่องการคงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ และท้ายที่สุดก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ บริษัทในระยะสั้นได้" นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนที่ออกและเสนอขาย Perpetual Bond ควรรีบแก้ไขเงื่อนไขของการออก โดยให้ไป แก้ไขสัญญาหุ้นกู้ หรือทำการไถ่ถอน Perpetual Bond ดังกล่าวแล้วออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ทดแทน แต่อาจจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการออกหุ้น กู้ชุดใหม่ที่สูง และอาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 2-3 เดือนในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะไม่ทันภายในวันที่ 1 ม.ค.63
อย่างไรก็ตาม PwC ได้มีข้อเสนอแนะไปทางสภาวิชาชีพบัญชี ให้ออกมาตรการผ่อนผัน เพื่อเปิดทางให้บริษัทที่ออก Perpetual Bond ไปแล้วได้มีเวลาปรับเงื่อนไข หรือแก้ไขปัญหา โดยอาจให้ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเบื้องต้นทางคณะกรรมการกำหนด มาตรฐานบัญชี ก็มีมติเห็นชอบแนวทางผ่อนผันแล้ว หลังจากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อพิจารณาในขั้นต้น และจะส่งให้กับ ทางคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กบว.) พิจารณาต่อไป ซึ่งหากมีการอนุมัติจาก กบว.แล้วก็จะมีการประกาศลงในราช กิจจานุเบกษา หรือออกเป็นกฎหมาย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.62
นอกจากนี้ การนำมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่มาใช้ ยังอาจส่งผลต่อบริษัทที่มีแผนออก Perpetual Bond ต้องชะลอการออก ไปก่อน เนื่องจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์คงไม่ยินยอมให้ปรับเงื่อนไขสิทธิของผู้ซื้อบางข้อ และยังไม่รับประกันให้กับผู้ออกหุ้นกู้ โดยพบปัจจุบันมี บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มีแผนออก Perpetual Bond ในช่วงที่เหลือของปี 4 ราย ได้แก่ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มูลค่ารวมราว 3.2 หมื่นล้าน บาท
ขณะที่แนวโน้มหลังจากมีการบังคับใช้มาตรฐาน TAS 32 แล้ว เชื่อว่าการออก Perpetual Bond น่าจะยังได้รับความสนใจ จากบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ เนื่องจากได้ประโยชน์ที่ดี แต่คงต้องปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม