(เพิ่มเติม) TOP วางเป้าปี 73 กำไรสุทธิเพิ่มเป็น 1 พันล้านเหรียญฯ ตามแผนขยายโรงกลั่น-ปิโตรฯ,จัดงบ 5 ปีลงทุนรวม 4.83 พันล้านเหรียญฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 17, 2019 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทประมาณการกำไรสุทธิในปี 73 จะมีกำไรสุทธิแตะระดับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 312 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว ตามแผนดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ที่จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในไตรมาส 1/66 คาดว่าจะสร้างกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันอย่างน้อยอีก 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาทำได้ราว 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ โครงการ CFP จะทำให้ผลพลอยได้ คือ แนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะใช้ในธุรกิจปิโตรเคมีออกมา 2.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทมีแผนจะต่อยอดขยายลงทุนปิโตรเคมี ภายใต้โปรแกรม Beyond CFP เพื่อขยายกำลังการผลิตสารอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตในสายอะโรเมติกส์เพียงพาราไซลีน (PX) ราว 5.4 แสนตัน/ปีเท่านั้น

โดยการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมดังกล่าว อยู่ระหว่างศึกษาว่าอาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) หรือเปิดกว้างกับพันธมิตรรายอื่นได้เช่นกัน ซึ่งหากต่อยอดโครงการ Beyond CFP แล้วเสร็จก็จะผลักดันมาร์จิ้นและกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย

นายวิรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้การวางกลยุทธ์ 3 ด้านของบริษัท ประกอบด้วย Strengthen the Core (ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจไฟฟ้า) ที่จะเพิ่มกำลังการผลิต และอัพเกรดผลิตภัณฑ์ตามโครงการ CFP หนุนให้มีรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้า และการบริหารสินทรัพย์และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ,

Value Chain Enhancement (ธุรกิจเคมี) ที่จะดำเนินการขยายห่วงโซ่การผลิตต่อยอดจากโครงการ CFP ในธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ ตลอดจนผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษมูลค่าสูง (High Value Specialty Product)

และ Seed the Option (ธุรกิจนวัตกรรม) ที่ดำเนินการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ผ่านทางวิจัยและพัฒนา การร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการผลิต ,เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และเทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจปิโตรเลียม

การดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนกำไรตามธุรกิจหลักในปี 73 เป็นดังนี้ ธุรกิจปิโตรเลียม 40% ,ปิโตรเคมี 40% ,ไฟฟ้า 15% และอื่น ๆ 5% เมื่อเทียบปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำไร จากธุรกิจกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม 60% , อะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 23% ,ไฟฟ้า 12% และอื่น ๆ 5%

"ดูจากที่ผ่านมาในช่วง 5 ปีเฉลี่ยกำไรของเรายังแข็งแรง แต่ถ้าเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเราอาจจะต้องปรับปรุงเพราะอุตสาหกรรม oil & gas จะถูก disruption...เราต้องปรับยุทธศาสตร์ของไทยออยล์ วิชั่นของเราต้องการต้องการที่จะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยพลังงานในทิศทางที่ยั่งยืน เราต้องการทำพลังงานและต่อยอดแวลูเชนของไฮโดรคาร์บอน เป็นเคมิคอล ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ไทยออยล์ไปเป็น world class refinery พร้อมกับมีธุรกิจปิโตรเคมีที่หลากหลาย"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า โครงการ CFP จะทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันของบริษัทเพิ่มขึ้น 45% ,สามารถผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าแม้อุตสาหกรรมน้ำมันเบนซินและดีเซลอาจจะถูกยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเข้ามากระทบในระยะยาว แต่ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถทดแทนน้ำมันอากาศยานได้

ขณะเดียวกันโครงการ CFP ก็จะไม่มีการผลิตน้ำมันเตาที่มีมูลค่าต่ำออกมาเลย จากปัจจุบันที่มีการผลิตน้ำมันเตาได้ราว 8-9% นอกจากนี้ยังทำให้สามารถเลือกใช้น้ำมันดิบชนิดหนัก (heavy crude) ซึ่งมีราคาต่ำได้ในสัดส่วน 50% และใช้น้ำมันดิบชนิดเบา (light crude) ซึ่งมีราคาสูงในสัดส่วน 50% จากปัจจุบันที่มีการใช้น้ำมันดิบชนิดเบาเข้ากลั่นทั้ง 100% โดยราคาน้ำมันดิบชนิดหนักและเบา มีส่วนต่างกันถึง 7-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะช่วยหนุนให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย

นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังมองโอกาสการปรับพอร์ตสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีความเหมาะสม โดยมีบางส่วนที่ต้องลงทุนเพิ่มอย่างธุรกิจปิโตรเคมี หรือบางส่วนที่อาจต้องจัดพอร์ตใหม่ให้มีความเหมาะสม อย่างธุรกิจเดินเรือที่ปัจจุบันดำเนินการในนามของบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) ก็อาจต้องพิจารณาร่วมกับปตท. ที่เริ่มจะมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมในอนาคตด้วย รวมถึงธุรกิจเอทานอลที่ถือหุ้นอยู่ 20% ในบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด ก็อาจจะลดสัดส่วนการลงทุนลงหากบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เป็นต้น

สำหรับในช่วง 5 ปี (ปี 62-66) บริษัทวางแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 4.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนในโครงการ CFP ที่ในปีนี้จะใช้ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปีหน้า จะใช้ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปีต่อ ๆ ไป จะทยอยใช้ประมาณ 600-700 เหรียญสหรัฐ/ปี สำหรับการจัดหาเงินทุนโดยใช้เงินสดที่บริษัทมีอยู่ประกอบกับเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคต และการจัดหาเงินผ่านการกู้ยืม และหรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติมโดยพิจารณาตามสภาวะตลาดตราสารหนี้ที่เหมาะสม

ด้านนางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี ของ TOP กล่าวว่า เงินลงทุนตามโครงการ CFP ที่มีมูลค่าราว 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะมาจากเงินกู้ในสัดส่วน 50% และเงินทุนจากของบริษัทที่จะมาจากกระแสเงินสดสัดส่วน 50% ซึ่งมั่นใจว่าจะจัดหาเงินลงทุนโครงการได้ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีเงินสดอยู่ราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาแต่ละปีราว 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่จัดหาเงินกู้ผ่านการออกหุ้นกู้และกู้เงินมาแล้วบางส่วน คงเหลืออีกเล็กน้อยราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคงต้องรอดูความเหมาะสมต่อไป แต่เบื้องต้นการกู้เงินเพื่อลงทุนยังไม่จำเป็น แต่ในปีหน้าก็จะพิจารณาโอกาสในการออกหุ้นกู้เพื่อมาจ่ายคืนหนี้บ้างเพื่อดูแลต้นทุนการเงินให้มีความเหมาะสมเท่านั้น

ขณะที่ปัจจุบันอัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับ 0 ซึ่งบริษัทมีนโยบายที่จะควบคุมไม่เกิน 1 เท่า แม้ว่าจะมีการเบิกใช้เงินกู้ทั้งหมดเพื่อดำเนินโครงการ CFP ตามแผนแล้วก็คาดว่าในปี 65 จะมีหนี้สินสุทธิต่อทุน ราว 0.8 เท่าเท่านั้น

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ มีทิศทางที่จะอ่อนตัวลงตามค่าการกลั่น (GRM) และการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันตามแผนทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยมาอยู่ระดับ 110% จาก 113% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทิศทางผลการดำเนินงานน่าจะเห็นการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/62 ไปจนถึงปีหน้า จากค่าการกลั่นที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากเข้าสู่ฤดูหนาว และการใช้เกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จาก 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปี 63

ขณะที่นายฉัตรฐาพงศ์ วังธนากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการพาณิชย์องค์กร ของ TOP กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดในช่วงไตรมาส 4/62 มองว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในช่วง 56-61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อ่อนตัวลงจากไตรมาส 3/62 จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ,ค่าการกลั่น มีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงหนุนความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและอากาศยานที่ปรับตัวสูงขึ้นในฤดูหนาว และฝั่งอุปทานมีจำกัด ส่วนทิศทางตลาดสารพาราไซลีน คาดว่ายังคงอ่อนตัวต่อเนื่องจากอุปทานขึ้นใหม่ในจีนตั้งแต่ไตรมาส 2/62 และอุปทานที่จะเปิดใหม่ในไตรมาส 4/62 ทำให้อุปทานล้นตลาดต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าการกลั่นในปัจจุบันที่ปรับตัวลงแรง หลังได้รับแรงกดดันจากค่าขนส่งทางเรือที่พุ่งขึ้น จากที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน บริษัทยังมั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาด เนื่องจากปัจจุบันมีเรือขนส่งน้ำมันดิบด้วยตัวเองบางส่วน และมีการกำหนดราคาค่าขนส่งคงที่แล้วจำนวน 3 ลำ คิดเป็นสัดส่วน 75%

ส่วนปี 63 ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จะอยู่ในช่วง 58-63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 62 แม้คาดว่าอุปสงค์น้ำมันในปีหน้าจะเติบโต 1.0-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่อุปทานเพิ่มขึ้นจากสหรัฐและยุโรป 1.3 และ 0.4 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนธุรกิจกลั่นน้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเกณฑ์ใหม่ IMO และตลาดพาราไซลีน ยังอ่อนตัวต่อเนื่อง จากอุปทานที่ล้นตลาดต่อเนื่องจากปีนี้ และในปีหน้าจะมีอุปทานใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง เข้ามาเพิ่มขึ้น 7.9 ล้านตัน/ปี มากกว่าอุปสงค์ที่เติบโต ประมาณ 1.7 ล้านตัน/ปี

นายฉัตรฐาพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 67 นั้น บริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการ โดยในส่วนของโครงการ CFP ที่มีก่อสร้างหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) ใหม่ 2.2 แสนบาร์เรล/วัน จะสามารถกลั่นน้ำมันได้ตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เลย แต่ในส่วนของน้ำมันที่เหลือซึ่งกลั่นจากหน่วย CDU เดิมนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงเพื่อให้ได้น้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มกระบวนการแล้ว เพียงแต่รอรัฐบาลอาจจะมีสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็วกว่ากำหนด บริษัทก็พร้อมเข้าร่วมดำเนินการ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ออกมาให้ได้พร้อมกับโครงการ CFP ที่แล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในปี 66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ