เปิดโลกนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของอุตสาหกรรมอาหารของผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลระดับโลก ภายใต้อาณาจักรของ บมจ.อาร์แอนด์บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เบื้องหลังของความอร่อยของหลายแบรนด์อาหารชั้นนำของไทย และอีกหลายแบรนด์ในต่างประเทศ
RBF เป็นเบอร์หนึ่งผู้ผลิตและจำหน่ายส่วนประกอบอาหาร (Food Ingredients) ในประเทศไทย ทั้งการปรุงแต่งรส กลิ่น สี ทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น วัตถุแต่งกลิ่น (Flavor) สีผสมอาหาร แป้งและซอส ผลิตภัณฑ์อบแห้ง ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ตลอดจนธุรกิจเทรดดิ้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ สารกันบูด สารกันรา กรดมะนาว นมผง และปลอกไส้กรอก เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 96.76% ของรายได้รวม
พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ หรือ หมอจั่น กรรมการบริษัท และทายาทรุ่นที่ 2 ของ RBF ดีกรีหมอทหารเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวุฒิบัตร สาขาวิชาตจวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เข้ามาสานต่อและช่วยเหลืองานบริหารจาก นายสมชาย รัตนภูมิภิญโญ ผู้ก่อตั้ง RBF ประสบการณ์ยาวนานกว่า 33 ปี และในวันนี้ "หมอจั่น" ถือเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่จะนำพา RBF เข้าเป็นบริษัทมหาชนในเร็วๆนี้
RBF เป็นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 520 ล้านหุ้น กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 3.30 บาท เปิดจองซื้อในช่วงวันที่ 16-18 ต.ค.62 คาดว่าจะสามารถเข้าทำการซื้อขายเป็นวันแรกในวันที่ 24 ต.ค.62 เพื่อจุดมุ่งหมายการก้าวเป็นผู้เล่นระดับโลกผ่านการขยายกิจการในต่างประเทศเพิ่มมูลค่าสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลก
*IPO หุ้นละ 3.30 บาท หนึ่งทางเลือกผู้ลงทุนระยะยาว
พ.ต.พญ.จัณจิดา เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า การกำหนดราคา IPO หุ้นละ 3.30 บาท มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่หุ้นละ 3.00–3.30 บาทปรากฏว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการซื้อหุ้นที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 3.30 บาทเป็นจำนวนมาก โดยมีความต้องการซื้อหุ้นสูงถึง 12.4 เท่าของจำนวนหุ้นที่จะจัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบัน โดยอ้างอิงตามอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 22 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท
ผลตอบรับจากการเดินทางไปให้ข้อมูลแก่นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไปภายในประเทศ 15 จังหวัด สถาบันทั้งในและต่างประเทศ ค่อนข้างได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เพราะธุรกิจ RBF แทบไม่มีคู่เทียบ และอยู่ใน Blue Ocean ลักษณะของธุรกิจของ RBF เป็นอาหาร แต่ไม่ได้อยู่ในประเภท Fashion Food ทำให้รายได้และการเติบโตค่อนข้างคงที่ คิดว่าเหมาะกับนักลงทุนสาย VI ซึ่งถ้านักลงทุนอยากได้หุ้นที่มีความ Stable ไว้ในพอร์ตหุ้น RBF นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี
"หุ้น RBF มีปันผลให้กับนักลงทุนอย่างน้อย 40% ของกำไรแต่ละปี เรามีความมั่นใจกับสิ่งที่ดำเนินการอยู่ การลงทุนของบริษัทมีทั้งในและต่างประเทศ มีการศึกษามาอย่างดีในทุกโปรเจ็คต์ ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงเป็นสำคัญ เงินของนักลงทุนเราให้ความสำคัญจะไม่นำมาเสี่ยงง่ายๆ" พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าว
*เข้าตลาดหุ้นเสริมแกร่งเวทีแข่งขันระดับโลก
พ.ต.พญ.จัณจิดา ระบุว่า ปัจจุบันหนี้สินต่อทุนของ RBF ไม่ได้สูง เป็นสิ่งสะท้อนว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ใช่ความต้องการเงินทุนเป็นหลัก แต่จุดประสงค์ คือ ต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้กับบริษัทในสายตาของคนทั่วโลก ตอกย้ำว่า RBF ไม่ได้เป็น Family Business อีกต่อไป มีธรรมภิบาลที่ดี เพื่อดึงดูดพันธมิตรและผู้ร่วมงานที่เป็นมืออาชีพทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทที่มีมาตรฐาน
"ในสเต็ปต่อไปคือเราต้องการไปแข่งขันในเวทีโลก การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯช่วยทำให้เหมือนกับว่าบริษัทติดยศ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมภิบาลที่ดี ช่วยให้คู่ค้าของ RBF เกิดความสบายใจอยากเข้ามาร่วมงานกับเรา ทำให้มีโอกาสได้รับโปรเจ็คต์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น"พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าว
เงินที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งนี้บริษัทจะได้รับเงินจำนวน 1,716 ล้านบาท จะนำไปใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายเกล็ดขนมปังและแป้งประกอบอาหาร ล่าสุดสร้างเสร็จแล้ว เตรียมเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/63 พร้อมปรับปรุงและซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต อีกส่วนหนึ่งจะใช้เปิดศูนย์วิจัยฯและพัฒนาแห่งใหม่และตั้งตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ในสิงคโปร์ เพื่อใช้เป็น Hub ขยายฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจ Flavor ในเอเชียที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโซนล่างเอเชีย อาทิ เวียดนาม ,มาเลเซีย ,อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
*จุดแข็งสำคัญจากการเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าอุปโภครอบตัวคน
พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าวว่า ความแข็งแกร่งของ RBF คือคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทยเคยได้บริโภคผลิตภัณฑ์ของ RBF โดยไม่รู้ตัว เพราะยกตัวอย่างถ้าเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อจะพบว่าสินค้าอาหารเกือบทุกตัวจะมีส่วนผสมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ RBF โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นส่วนเสริมของอาหารทั้งด้านรูป รส และกลิ่น
รวมทั้งผลิตภัณฑฺ์ที่ช่วยทำให้ผลผลิตอาหารก้าวขึ้นสู่ระดับภาคอุตสาหกรรมและส่งออกไปต่างประเทศ เพราะถ้าไม่มีส่วนผสมพิเศษของ RBF เข้าไปช่วยเรื่องความคงตัวของอาหาร และสร้างคาแรคเตอร์เป็นที่จดจำของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารนั้นจะเป็นเพียงแค่อาหารในครัวเรือนเท่านั้น
"เราเป็นเบื้องหลังอุตสาหกรรมอาหาร โปรดักส์ของ RBF มากกว่า 80% ขายให้กับผู้ประกอบกิจการอาหารรายใหญ่ ผู้บริโภคคือผู้ที่ซื้ออาหารจากห้างร้านทั่วประเทศ ซึ่งคนไทยแทบทุกคนเคยได้สัมผัสกับโปรดักส์ของเราโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งในมุมของเราเองก็มีความภูมิใจเพราะเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้รสชาติอาหารอร่อย
แต่เราไม่สามารถไปประกาศตัวได้ว่าโปรดักส์ของเราเข้าไปเป็นส่วนผสมสำคัญของแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ เพราะถือเป็นความลับทางธุรกิจ...หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้ลูกค้าที่ใช้โปรดักส์ของ RBF มีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาดีที่สุด ประหยัดที่สุด และที่สำคัญคือต้องบริหาร Supply Chain ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต้องง่ายที่สุดด้วย"
*ลุยพัฒนา"นวัตกรรม"อาหารตามเทรนด์ผู้บริโภค โอกาสเติบโตในไทยและต่างประเทศ
พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดในประเทศไทย แม้ว่า RBF จะมีผลิตภัณฑ์เข้าถึงเกือบทุกโรงงานอาหารอยู่แล้ว แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงแนวโน้มแทรนด์รักสุขภาพจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีราคาแพงขึ้น หรือแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารจำนวนมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารก็จะเติบโต ยอดขายผลิตภัณฑ์ของ RBF ก็จะเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน
บริษัทได้มุ่งเน้นเรื่องงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ของการบริโภค เช่น ปีที่ผ่านมาภาษีน้ำตาลบังคับใช้ บริษัทก็สามารถขายสินค้าที่ชดเชยน้ำตาลให้กับผู้ประกอบการหลายราย หรือแม้แต่เทรนด์อาหารคลีน บริษัทก็สามารถขยายกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มเติม เป็นสิ่งสะท้อนว่าไม่ว่าเทรนด์การบริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร บริษัทก็ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมได้เช่นกัน
ส่วนธุรกิจในต่างประเทศ บริษัทมีตัวแทนขายในประเทศนั้นๆ ที่มีความเข้าใจถึงพฤติกรรมการบริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นตัวแปรหลักที่ช่วยเสริมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างหลากหลาย ช่วยผลักดันยอดขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ของ RBF กว่า 85% คือลูกค้าในประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าต่างประเทศหลากหลายภูมิภาค ทั้งยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง จีน และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด โดยบริษัทมีออร์เดอร์จากต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดบริษัทมี 7 โรงงานในประเทศไทย และกำลังเตรียมความพร้อมเดินเครื่องผลิตโรงงานเกล็ดขนมปังในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย
"การแข่งขันในตลาดยอมรับว่าเทรนด์อาหารมาเร็วและไปเร็วมากดังนั้นทีมวิจัยฯและพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญอย่างมาก ถือเป็นจุดแข็งของ RBF และที่สำคัญคือต้องบริหารซัพพลายเชนให้แข็งแกร่ง"พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าว
บริษัทยังมีแนวทางขยายผลิตภัณฑ์กลุ่ม Flavor เข้าไปในสินค้าอุปโภค เช่น น้ำหอม ,ครีมบำรุง,สบู่,แชมพู แม้ว่าเดิมบริษัทจะขายสินค้าประเภทดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เป็นลักษณะของเทรดดิ้งซึ่งมีมาร์จิ้นไม่มาก แต่หลังจากนี้มีแผนเข้ามาเป็นผู้ผลิตเอง จะทำให้บริษัทได้รับมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นทันที และอีกส่วนหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทก็คือสามารถปรับแก้สูตรสินค้าอุปโภคได้รวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานเครื่องสำอางที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน และมีความต้องการกลิ่นหอม (Fragance) เป็นส่วนประกอบเป็นตลาดที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง
"แม้ว่ารายได้โดยปกติบริษัทเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่ในปี 63 เชื่อว่าภายหลังจากการตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วผลประกอบการมีโอกาสเติบโตเป็น 2 หลัก จากการรับรู้รายได้ของโครงการใหม่ทั้งโรงงานในเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่วนการตั้งฐานห้องวิจัยในสิงคโปร์ ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าในเอเชียได้มากขึ้น"
*RBF ธุรกิจที่มีศักยภาพทำกำไรสูง
พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าวว่า บริษัทมีมาร์จิ้นสูง เพราะผลิตภัณฑ์มีคู่แข่งน้อยราย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Flavor ผู้ผลิตในระดับเดียวกันที่เป็นสัญชาติไทยในประเทศไทยมีเพียง RBF เพียงรายเดียวเท่านั้น ขณะที่แต่ละสูตรเป็นความลับ ดังนั้น หน้าที่ของ RBF ส่วนหนึ่งคือต้องรักษาความลับให้กับลูกค้า เมื่อขายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกับลกค้าแล้ว ก็จะไม่นำไปขายให้กับผู้ประกอบการายอื่น เป็นสาเหตุทำให้บริษัทมีมาร์จิ้นสูง
RBF มีอีกจุดแข็งที่สำคัญ คือ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ตั้งอยู่ในโรงงานที่กรุงเทพฯ โดยมีนักวิจัย 60 คน โดยมีกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญด้านการปรุงแต่งรสชาติ (Flavorist) ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย โดยศูนย์แห่งนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ทางด้านผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มของ RBF
และที่สำคัญคือต้นทุนส่วนผสมที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ได้ผันผวนตามปัจจัยแวดล้อมเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ RBF เป็นหนึ่งบริษัทที่มีศักยภาพทำกำไรสูงอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 40% และมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 12-14% ทรงตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อนึ่ง ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 61 บริษัทมีรายได้รวม 2,738.25 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 321.11 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 1,412.82 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 147.23 ล้านบาท
พ.ต.พญ.จัณจิดา กล่าวต่อว่า แนวทางเติบโตของ RBF ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จะมุ่งขยายตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ ในรูปแบบ Organic เมื่อลูกค้าเติบโตบริษัทก็จะเติบโตในทิศทางเดียวกัน และยังเติบโตไปตามเทรนด์ใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อลูกค้า เช่น กลุ่มอาหาร Non Fried ที่กำลังเกิดเทรนด์ตอบโจทย์อาหาร Delivery ต้องการผลิตภัณฑ์ช่วยให้อาหารคงความกรอบนานขึ้น เป็นต้น
ส่วนในต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจแป้งและซอสเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องมุ่งบริหารซัพพลายเชนให้แข็งแกร่ง เช่น ส่งสินค้ารวดเร็ว ,ราคาต้องดี เป็นต้น ส่วนด้านตัวแทนขาย ต้องเพิ่มจำนวนพนักงานท้องถิ่น ทำความเข้าใจผู้บริโภคในประเทศนั้นๆให้มากขึ้น
https://youtu.be/ZApa5-CPKzE