WICE ผ่าแผนสู้ศึก"TRADE WAR" วิกฤต หรือ โอกาส โลจิสติกส์ไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 22, 2019 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่สงครามการค้าของ 2 ประเทศมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐฯปะทุขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวโยงหรือมีความสัมพันธ์กับการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ถือเป็นโจทย์ท้าทายครั้งสำคัญของผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน

ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยหลายราย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกระทบ และหนึ่งในนั้นคือ บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศทั้งทางทะเลและทางอากาศแบบครบวงจรรายใหญ่สัญชาติไทย ความเสี่ยงดังกล่าวลุกลามฉุดความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน สะท้อนราคาหุ้น WICE เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดแถว 8.20 บาทในช่วงต้นปี 2561 ก่อนจะเกิดแรงขายต่อเนื่องล่าสุดช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ เคลื่อนไหวแถวๆ 2.70 บาทเท่านั้น

แม้ว่าสัญญาณสงครามการค้าจะส่อแววยืดเยื้อ กลายเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป แต่จากแผนการปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์สัญชาติไทยรายนี้ เชื่อมั่นว่าท่ามกลาง "วิกฤต" ยังมี "โอกาส" สามารถพลิกสถานการณ์สร้างผลประกอบการเติบโตโดดเด่นอีกครั้งในปี 2563

*สู้ศึก "TRADE WAR" ภายใต้ "วิกฤต" ย่อมมี "โอกาส"

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งการค้าของสหรัฐฯและจีน สร้างผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯและจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจและการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยในมุมของบริษัทเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศครบวงจร หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับกระทบ เนื่องจากการส่งออกและนำเข้าของไทยหดตัวชัดเจน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักอย่างสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เป็นต้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เริ่มส่งสัญญาณเชิงลบกับผู้ประกอบการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เห็นผลอย่างชัดเจนในปี 62 ส่วนหนึ่งเกิดจาก Supply Chain เปลี่ยนแปลงเส้นทางขนส่งสินค้าจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมของจีนกระจายเข้ามาลงทุนในไทย ,เวียดนาม ,มาเลเซีย เป็นต้น แม้จะมองเป็นโอกาสบางกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย เช่น สินค้าประเภทโซลาร์ โมดูล หรือยางรถยนต์ ยางแปรรูป ที่มีการส่งออกมากขึ้น หลังจากผู้ประกอบย้ายฐานการผลิตมาในไทย แต่ก็มีหลายอุตสาหกรรมเช่นกันที่เสียประโยชน์ แต่ถ้าเกิดมองในภาพรวมแล้วการส่งออกของไทยลดลง และเงินบาทแข็งค่ามาก เทียบกับสกุลเงินหลักของโลก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐฯ ,หยวน ,ยูโร เป็นตัวแปรสำคัญกดดันผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน WICE มีบริษัทลูกกระจายในตลาดหลักเอเชีย ประกอบด้วย WICE Logistics (Hong Kong) Limited (WICE HK) ที่มีสำนักงานในฮ่องกง และยังถือหุ้นในบริษัทลูกที่มีสำนักงานในประเทศจีน 3 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น ,และ WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd. (WICE SG) ที่มีสำนักงานในสิงคโปร์

นายชูเดช กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบ แต่การที่เป็นประเทศมหาอำนาจมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึงการทำงานร่วมกันของกลุ่มฯ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในฮ่องกงและจีน กลับดีขึ้นกว่าคาดและเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะดีขึ้นตามลำดับ

"WICE เริ่มก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 1993 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เจอวิกฤตครั้งใหญ่มาแล้ว 2-3 รอบ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงปี 1997 ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ส่งออก ทำให้บริษัทเติบโตอย่างชัดเจน กำไรโตเบ่งบานมาก ก่อนมาเจอวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ตอนนั้นได้รับผลกระทบหนักมาก เพราะกระทบตลาดหลักคือสหรัฐฯ ฉุดรายได้หายไปมากกว่า 30%

แต่เราก็ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยมุ่งมาขยายตลาดในเอเชียเยอะขึ้น พร้อมกับลงทุนขยายสาขามายังแหลมฉบัง ซึ่งในปีนั้นแทบไม่มีผู้ประกอบการลงทุน แต่เราชอบลงทุนช่วงที่มีวิกฤต หลังจากนั้นไม่นานลูกค้าเข้ามาใช้บริการสาขาในแหลมฉบังเป็นจำนวนมากต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ตลาดเอเชียที่เราหันมาขยายฐานลูกค้า ทำให้ผลประกอบการเติบโตมาต่อเนื่อง ปัจจุบันพอร์ตลูกค้าในเอเชียมากกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนพอร์ตลูกค้าในสหรัฐฯปรับลดไปตามลำดับ เป็นสิ่งสะท้อนว่าแม้จะเจอวิกฤต แต่ยังมองหาโอกาสใหม่เสมอ"

*ปรับแผนรับมือความผันผวน "TRADE WAR"

นายชูเดช กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกบริษัทได้รับผลกระทบไปบ้าง แต่บริษัทปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่นกัน โดยอันดับแรกคือตลาดสินค้าหลักอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ส่งออกหดตัว และผลกระทบเงินบาทแข็งค่า ซึ่งได้เบนเข็มมามุ่งขยายกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจของประเทศ จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมการบิน (Aerospace) ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานของภูมิภาค จึงเห็นโอกาสที่จะมีการขนส่งอุปกรณ์เครื่องบิน เครื่องยนต์ ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และบริการสินค้านำเข้าในธุรกิจค้าปลีก (Retail Market) เชื่อว่าในอนาคตกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะยังสามารถเติบโต สร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่องมั่นคงมากขึ้น

อันดับต่อมาคือธุรกิจบริการขนส่งข้ามพรมแดน (Cross-Border Transport Services) ที่บริษัทเข้าทำสัญญาร่วมทุน และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ภายใต้ชื่อบริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (Euroasia Total Logistics Co.,Ltd. หรือ ETL) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งข้ามพรมแดน (Cross - Border Transport Services) ระหว่างประเทศจีน ฮ่องกงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการบริหารค่อนข้างสูง เนื่องจากเริ่มต้นจัดตั้งบริษัทแรก และสินค้าขากลับยังมีปริมาณไม่สูง

ล่าสุด บริษัทได้ขยายลงทุนพัฒนาตู้ขนส่งสินค้าขนาดพิเศษ 45 ฟุต ที่สามารถขนส่งสินค้าชนิดแห้งและเปียกได้ เพื่อรองรับขนส่งขากลับเพิ่มมากขึ้น คาดว่าปี 62 จะสร้างรายได้ 300 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่ทำรายได้กว่า 170 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าจะมีผลประกอบการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 63

ขณะที่ด้านของ WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd. (WICE SG) ในสิงคโปร์ ล่าสุดมีผลประกอบการที่ดี แม้ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปบ้าง เนื่องจากมีสัดส่วนขนส่งสินค้าทางอากาศจำนวนมาก แต่ว่าในครึ่งปีหลังเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมทั้งปีน่าจะเป็นในทิศทางเชิงบวก

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าถือหุ้นใน WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd. (WICE SG) เพิ่มเป็น 100% จากที่ขณะนี้ถืออยู่ 70% คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เบื้องต้นน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/63 เนื่องจาก WICE SG เป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง ดังนั้นการเข้าถือหุ้นทั้ง 100% จะเป็นผลบวกต่อกำไรของบริษัทในอนาคต

นายชูเดช กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเตรียมจัดตั้งบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ Wice Supply Chain Solution ในเดือน ต.ค. เพื่อรองรับการให้บริการซัพพลายเชนครบวงจร และรองรับการกระจายสินค้า การขนส่งเครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นจะมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท และจากนั้นจะทยอยลงทุนต่อเนื่องในปี 63 ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารายได้ในธุรกิจดังกล่าวปีละ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักเพื่อนำมาต่อยอดจากธุรกิจคลังสินค้าและการขนส่งสินค้า เพราะในช่วง 2-3 ปีได้รับการตอบรับที่ดี เป็นการยกระดับการให้บริการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

"ปีนี้บริษัทก็เจอผลกระทบจากสงครามการค้า บางคนก็เรียกเป็นวิกฤต เศรษฐกิจถดถอย และซบเซา กระทบธุรกิจนำเข้าส่งออกไทย แต่เป็นปีที่บริษัทหันมาขยายการลงทุนงานด้านธุรกิจบริการขนส่งข้ามพรมแดน ใช้เงินไปกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในมุมมองของบริษัทเชื่อมั่นว่าเป็นการลงทุนที่ดีเป็น key driver ผลักดันบริษัทในอนาคต ขณะที่น้องใหม่ที่เพิ่งตั้งบริษัท Wice Supply Chain Solution เพื่อมาขยายงานโลจิสติกส์รองรับการกระจายสินค้าครบวงจร"

*เล็งขยายฐาน "เวียดนามและมาเลเซีย"อัพเกรดเครือข่ายโลจิสติกส์ทั่วเอเชีย

นายชูเดช ยอมรับว่า มีแนวคิดขยายเครือข่ายฐานโลจิสติกส์ในแถบเอเชียเพิ่มเติม โดยมองเห็นโอกาสในประเทศเวียดนามและมาเลเซีย เป็นตลาดเติบโตรวดเร็ว สะท้อนได้จากตัวเลข GDP เติบโตมากกว่าไทยเป็นเท่าตัว ขณะที่บริษัทยังสามารถเชื่อมโยงกันทางธุรกิจหลายด้าน ยกระดับการให้บริการครอบคลุมครบทุกโหมดทั้งทางทะเล อากาศ หรือทางบก บริษัทมีความพยายามที่จะทำให้เกิด Synergy ในกลุ่มฯมากขึ้น

"บริษัทมีแนวทางเติบโตทั้งแบบ Organic Growth และ Inorganic Growth หรือซื้อกิจการ โดยในส่วนของ Organic ยังมองเห็นโอกาสการเติบโตในจีน เพราะปัจจุบันยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก โอกาสขยายตลาดในจีนมีอีกมาก ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่มีการค้ากับทั่วโลก ถ้าสามารถทำให้บริษัทในจีนแข็งแกร่ง จะสร้างอานิสงส์ให้กลุ่มฯเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์สงครามการค้าที่เกิดขึ้น เราก็ไม่ได้ตกใจ เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราคิดว่าจะอยู่กับเหตุการณ์นี้อย่างไรมากกว่า ในอีกมุมก็คือโอกาส เช่น ตลาดการค้าของเวียดนามกำลังโตมาก ซึ่งมีแนวคิดว่าจะไปเปิดสำนักงานในเวียดนาม ซึ่งก็อาจจะขยายตลาดตรงนั้นได้มากขึ้น เป็น Area ที่น่าสนใจ แต่บริษัทยังไม่ได้เร่งรีบขยายตัวจนควบคุมไม่ไหว เพราะปีนี้ก็เน้นเรื่องของธุรกิจธุรกิจบริการขนส่งข้ามพรมแดนว่าจะทำอย่างไรให้ผลประกอบการกลับมาเติบโตได้ดี"

*ปี 63 เชื่อผลงานพลิกกลับเติบโตโดดเด่นอีกครั้ง

นายชูเดช กล่าวว่า ผลประกอบการโดยรวมในปี 63 พยายามรักษาระดับการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนกำไรน่าจะพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากบริหารจัดการ ETL เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าในปีนี้ยอมรับว่าไม่ดีเหมือนปีที่แล้ว ส่วนราคาหุ้น WICE วันนี้ คิดว่า Undervalue แต่ว่าต้องรอเวลาจากสิ่งที่บริษัทกำลังพยายามทำให้เกิดขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลตอบแทนอย่างเด่นชัดให้ปี 63 ถ้านักลงทุนมองเห็นโอกาสในการลงทุน ก็น่าจะเห็นกำไรของ WICE กลับมาเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นได้ในปี 63

"ถ้าเปรียบ WICE เป็นคน ก็คงอยู่ในช่วงวัยรุ่น ยังอยู่ในช่วงแสวงหาการเติบโต เราอยากเห็น WICE มีอายุเป็นร้อยปีมีความยั่งยืน หนทางยังอีกไกล ขณะเดียวกันพยายามควบคุมความเสี่ยง การลงทุนแต่ละครั้งต้องให้เกิดผลตอบแทนที่มั่นคง สะท้อนจากงบการเงินของบริษัท ความเสี่ยงน้อยมากหนี้แทบไม่มีเลย นั่นแปลว่าเรากำลังมองทั้งในมุมสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงด้วย"

https://youtu.be/oD7tx5SIzQk


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ