นายกิตติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับขึ้นได้ แต่การฟื้นตัวคงจะยังจำกัดอยู่ เล็งหุ้นในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมี จะขึ้นนำตลาดฯ หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ฟื้นตัวขึ้น 2.7% หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 ต.ค. สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งถือว่าดีต่อราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ยังจะร่วมมือกันลดกำลังการผลิตลงอีก ส่วนบ้านเราก็มีการออกมาตรการชิมช็อปใช้ เฟส 2 ซึ่งอาจจะทำให้กลุ่มค้าปลีกคึกคักขึ้นมาได้อีกรอบ
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้บวกเล็กน้อย เป็นการฟื้นตัวหลังจากที่เมื่อวานนี้ได้ติดลบกัน โดยขณะนี้ต่างก็รอดูความคืบหน้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน, รอดูการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่วนบ้านเราก็รอดูการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/62 ของกลุ่ม Real Sector
พร้อมให้แนวรับ 1,624 จุด ส่วนแนวต้าน 1,637-1,640 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (23 ต.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,833.95 จุด เพิ่มขึ้น 45.85 จุด (+0.17%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,004.52 จุด เพิ่มขึ้น 8.53 จุด (+0.28%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,119.79 จุด เพิ่มขึ้น 15.50 จุด (+0.19%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 100.06 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 9.23 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 84.30 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 2.39 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิด เพิ่มขึ้น 11.98 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 27.17 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 6.16 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 0.68 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (22 ต.ค.62) 1,631.46 จุด เพิ่มขึ้น 10.68 จุด (+0.66%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 574.41 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (23 ต.ค.62) ปิดที่ 55.97 ดอลลาร์/บาร์เรล พุ่งขึ้น 1.49 ดอลลาร์ หรือ 2.7%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 ต.ค.) อยู่ที่ 2.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.28/29 แนวโน้มแกว่งกรอบแคบ จับตาประชุม ECB เย็นนี้ , Brexit มีแนวโน้มยืดเยื้อ
- "ซีพี-รฟท." ลงนามไฮสปีดเทรนวันนี้ หลังเจรจายืดเยื้อ 9 เดือน ตั้งเงื่อนไขสัญญา ปมส่งมอบพื้นที่-การเลิกสัญญา ขอผ่อนเกณฑ์กู้เงินของ แบงก์ชาติ "ศุภชัย" ตั้งบริษัทรถไฟความเร็วสูง ระดมผู้บริหารซีพีคุม อิตาเลียนไทยส่ง "เปรมชัย" นั่งบอร์ด จ่อตั้งเอสพีวีภาครัฐคุมสัญญา ด้านทัพเรือเปิดซอง "ซีพี" ชิงอู่ตะเภาวันนี้
- "สมคิด" เดินสายโรดโชว์ดึงนักลงทุนจีนลงทุนอีอีซี หลังไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ เพื่อเป็นข้อต่อสำคัญแห่งการเชื่อมโยงกับกลุ่ม CLMVT หลังจากที่สิ้นสุดไตรมาส 2/62 มูลค่าเงินลงทุนจีนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี สูงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท พร้อมให้ความมั่นใจอันดับ Doing Business ที่จะประกาศ 25 ต.ค.นี้ ขยับตัวดีขึ้น ด้านบีโอไอขานรับขยายสิทธิพิเศษเพิ่มแจงจูงใจนักลงทุนต่างชาติ
- ตลาดหลักทรัพย์ฯคาดมาร์เก็ตแคปจากการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนปีนี้เกิน 5.5 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและถือว่าสูงจากเป้าหมายในอดีต พร้อมลุ้นช่วงเดือนธ.ค.น้องใหม่กระจุกเข้าตลาดมากกว่า 10 บริษัท
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ไม่ช่วยอะไรมาก แค่ระบายสต๊อกไตรมาสสุดท้าย
- นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า การที่ ครม. เห็นชอบให้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% รวมถึงออกสินเชื่อดอกเบี้ย 2.5% คงที่ 3 ปี อีก 50,000 ล้านบาท ถือเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ได้เพราะปัจจุบันที่อยู่อาศัยทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด คอนโดมิเนียมที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่เหลือค้างสต๊อกในตลาดมากถึง 50% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในระบบ อีกทั้งยังช่วยให้คนที่อยากมีบ้านแต่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการโอนซึ่งมีอยู่มากมีภาระลดลง ช่วยให้โอกาสมีบ้านได้ง่ายขึ้น
*หุ้นเด่นวันนี้
- RBF (บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย) เทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สังกัดหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยราคาขาย IPO 3.30 บาท ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น RBF ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 4.60 บาท (อิง PE 21 เท่า) คาดกำไรสุทธิปี 2562-63 โต 7.6% Y-Y และ 24% Y-Y ตามลำดับ และคาดอัตราการเติบโตของกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้าเฉลี่ยที่ 18.4% CAGR โดย RBF เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร ลูกค้าคือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และธุรกิจค้าปลีก มีรายได้ในประเทศ 85% ส่งออก 15% โดยชอบในความสม่ำเสมอของรายได้ที่เติบโตตามอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และการให้ความสำคัญกับ R&D ที่สร้างความแตกต่างในสินค้า ทำให้ยากที่ลูกค้าจะเปลี่ยน Supplier และอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานในเวียดนามและอินโดนีเซีย คาดเริ่มรับรู้รายได้ปี 2563
- CPALL (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"คาดกำไรสุทธิ Q3/62 ที่ 5,649 ล้านบาท +18% Q-Q +9% Y-Y หากไม่รวม Employee benefit ใน Q2/62 คาดกำไรปกติ Q3/62 โต 5% Q-Q เพราะเป็นไตรมาสที่ดีของ MAKRO ชดเชย low season ของร้าน 7-11 ได้ แนวโน้ม Q4/62 จะโตต่อเนื่องและเป็นจุดสูงสุดของปี แต่ได้ปรับลดกำไรปี 2562-63 ลงเล็กน้อย 3-5% เพราะค่าใช้จ่ายพนักงานที่สูงมาตั้งแต่ต้นปี พร้อมปรับลงเป้าปีหน้าลงเป็น 97 บาทจากเดิม 100 บาท
- JMART (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 11 บาท คาดผลกำไรเติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจในกลุ่มบริษัทลูกเดินหน้าสร้างผลกำไร นำโดย JMT, SINGER และ J -asset ขณะเดียวกันธุรกิจมือถือของ JMART ได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการชิมช็อปใช้เฟส 2 เนื่องจากเป็นสินค้าเป้าหมายที่ประชาชนจะเข้าซื้อเพื่อรับส่วนลดที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะโทรศัพท์ iPhone 11 ที่เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว