นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของบมจ.แอพพลิแคด (APP) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และไฟลิ่งของ APP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ และจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้
ทั้งนี้ APP เป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบอย่างครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์การออกแบบด้านอุตสาหกรรม และด้านสถาปัตยกรรมและก่อสร้าง ตลอดจนเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการสาธิตการใช้งานให้แก่ลูกค้า รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน พร้อมเตรียมโรดโชว์พบนักลงทุนในเดือนพฤศจิกายน เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นด้านการออกแบบ และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติอย่างครบวงจรในประเทศไทย
ปัจจุบัน APP มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วก่อน IPO 100 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้นโดยภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชน ทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท จะเพิ่มขึ้นเป็น 140 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นสามัญจำนวน 280 ล้านหุ้น นโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้และหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามกฎหมายกำหนด
"ด้วยจุดแข็งของ APP ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบทั้งทางด้านอุตสาหกรรม ด้านสถาปัตยกรรมและก่อสร้าง ตลอดจนเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ (ฮาร์ดแวร์) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่องสแกน 3 มิติ จากผู้ผลิตโซลูชั่นด้านการออกแบบ 3 มิติชั้นนำระดับโลก ซึ่งเทคโนโลยีที่ APP จัดจำหน่ายนั้น เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบในประเทศให้ทัดเทียมสากลและสร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านออกแบบได้อย่างครบวงจร โดยบริการหลักของกลุ่มบริษัท คือ บริการ Subscription Service ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่อเนื่อง (Recurring Income) และจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่ใช้งาน"นายสมภพ กล่าว
ด้านนายประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ APP เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นสำหรับการออกแบบอย่างครบวงจร ทั้งซอฟต์แวร์สำหรับออกแบบอุตสาหกรรม (Mechanical Solution : MEC) และสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (Architecture Engineering & Construction : AEC) รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ (Hardware) ได้แก่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) และเครื่องสแกน 3 มิติ ตลอดจนการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
บริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ SolidWorks จาก Dassault Systems SolidWorks Corporation, ซอฟต์แวร์ ArchiCAD จาก Graphisoft SE, เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) Stratasys จาก Stratasys AP Limited และเครื่องสแกน 3 มิติ GOM จาก Gom GmbH. และเพื่อความครบวงจร กลุ่มบริษัทฯ ให้บริการฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และบริการผลิตชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รวมถึงการขยายตลาดไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่าน PT. Indonesia AppliCAD
สัดส่วนรายได้หลักของกลุ่มบริษัทจากการขายและบริการ ในงวด 6 เดือนแรกปี 62 มีรายได้จากการขายสัดส่วน 55.56% แบ่งเป็น ธุรกิจจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบ 39.78% และผลิตภัณฑ์ด้านการออกแบบ 3 มิติ 15.78% ขณะที่รายได้จากการบริการมีสัดส่วน 42.87% และรายได้อื่นๆ 1.57% ของรายได้รวม
ทั้งนี้ จากการที่รายได้หลักของกลุ่มบริษัทฯ มาจากการจำหน่ายซอฟต์แวร์ SolidWorks ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ผู้ผลิตกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร (IMM) กลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 59-61 กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมจำนวน 540.39 ล้านบาท จำนวน 563.48 ล้านบาท จำนวน 738.96 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะเดียวกันกำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทก็เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 21.23 ล้านบาท 27.73 ล้านบาท 75.24 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับในงวด 6 เดือนแรก ปี 62 กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมจำนวน 332.26 ล้านบาท กำไรขั้นต้นรวมจำนวน 157.45 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 48.14% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตรากำไรขั้นต้นปี 61 ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 20.51 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 6.17%
"ซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดจำหน่าย ล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการออกแบบและผลิตของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับการทำงานในวงการอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมสากล และสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม ด้วยเป้าหมายของบริษัทฯ ที่ต้องการจะเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการให้คำปรึกษาและคัดสรรผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีด้านการออกกแบบ เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านออกแบบและผลิต รวมถึงการก่อสร้างในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นายประภาส กล่าว