ก.ล.ต. เผยผลสำเร็จด้านคุ้มครองผู้ลงทุนของไทยพุ่งสู่อันดับ 3 ของโลก ใน Doing Business Report 2020

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 24, 2019 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตามที่ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 รมว.คลังแถลงผลรายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business Report 2020) ของธนาคารโลก ซึ่งประเทศไทยได้อันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว และเป็นอันดับที่ 5 ในเอเชียแปซิฟิก โดยด้านที่ไทยได้รับอันดับและคะแนนที่ดีขึ้นมีอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ การขออนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction Permits) และการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (Protecting Minority Shareholder)

ก.ล.ต. ได้มีบทบาทในการเข้าร่วมในการปรับปรุงและผลักดันมาตรการต่าง ๆ ในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย และในการประเมินในครั้งนี้ผลการจัดอันดับในเรื่องดังกล่าวปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 3 ของโลก จากเดิมที่อยู่ที่อันดับที่ 15 โดยได้รับคะแนน 86 คะแนน ซึ่งเดิม 75 คะแนนในปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากดัชนีด้านความสะดวกในการฟ้องคดีของผู้ถือหุ้น (Ease of Shareholder Suits Index) ที่เพิ่มขึ้นจาก 8 คะแนนเป็น 9 คะแนนโดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน และดัชนีด้านความโปร่งใสของบริษัท (Corporate Transparency Index) ที่ได้รับการปรับคะแนนเพิ่มขึ้นในเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ที่คะแนนด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยของไทยติดอยู่ใน 10 อันดับแรก

การที่อันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ก.ล.ต. ได้ปรับแนวทางการทำงาน โดย ก.ล.ต. ทำงานเชิงรุกในการสื่อสารโดยได้ริเริ่มประชุมทางไกล (conference call) กับผู้ประเมินของธนาคารโลก จากกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก และทำงานในเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมชี้แจงพร้อมกัน รวมถึงได้แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ สนับสนุนการตอบคำถามในการประเมิน

"การคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนคือภารกิจหลักของ ก.ล.ต. ผลการประเมินของธนาคารโลกที่ไทยได้คะแนนดีขึ้นมากในตัวชี้วัดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย จึงสะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศไทยมีกลไกที่เข้มแข็งทั้งในระดับกฎหมายและในทางปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะมีส่วนโดยตรงในการเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุนจากผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

การประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 10 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ 2) ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3) ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4) ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5) ด้านการได้รับสินเชื่อ 6) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7) ด้านการชำระภาษี 8) ด้านการค้าระหว่างประเทศ 9) ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10) ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย โดยธนาคารโลกจะพิจารณาจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม รวมทั้งการเข้าพบสัมภาษณ์ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ