บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่"
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความเห็นของทริสเรทติ้งว่าภาวะชะลอตัวของธุรกิจในปัจจุบันอาจทำให้ผลการดำเนินงานและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าได้
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันจากการเป็นผู้ประกอบการยางธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของปลายน้ำ (Vertical Integration) และประวัติผลงานที่ดีของคณะผู้บริหาร ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรและผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศผู้นำเข้ายางธรรมชาติ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความท้าทายในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ อุปทานส่วนเกินและการชะลอตัวของอุปสงค์ในธุรกิจยางธรรมชาติส่งผลกดดันทำให้ราคายางธรรมชาติในตลาดโลกปี 2561 และช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ลดลง ราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ยในปี 2561 ปรับตัวลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 1,365 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2561 จากเดิมที่ 1,647 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ราคายางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเป็น 1,455 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562
จากรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (International Rubber Study Group -- IRSG) พบว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้ายังคงส่งผลทำให้ความต้องการบริโภคยางธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ การบริโภคยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.5% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับการเติบโต 4.2% ในปี 2561 อย่างไรก็ตามการบริโภคยางธรรมชาติในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของความต้องการบริโภคทั่วโลก ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะอุปทานส่วนเกินจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าผลผลิตยางธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงที่ระดับ 1.1%-2.8% ต่อปีในช่วงปี 2562-2565 จากการลดพื้นที่การเพาะปลูกใหม่ ตลอดจนความล่าช้าของการปลูกต้นยางพาราชุดใหม่ และการโค่นต้นยางพาราเพื่อใช้พื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลกำไรมากกว่า
ผู้ประกอบการยางธรรมชาติในประเทศไทยจำนวนมากหยุดดำเนินกิจการ จากการที่ผู้ประกอบการยางธรรมชาติในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนหลายประการ ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องหยุดดำเนินกิจการ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการค้าในปัจจุบันยังส่งผลทำให้ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ย้ายโรงงานผลิตจากประเทศจีนมาประเทศไทย ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและความสามารถในการผลิตยางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
ผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง อัตรากำไรของบริษัทมีความผันผวนตามราคายางธรรมชาติและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถลดความเสี่ยงจากผลกระทบด้านลบดังกล่าวได้บางส่วนโดยการทำสัญญาตราสารอนุพันธ์ ทั้งนี้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (รวมการกลับรายการกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ของบริษัทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 0.22%-3.57% ในระหว่างปี 2559-2560
เพื่อที่จะจัดการกับความท้าทายที่มีมาอย่างต่อเนื่องและเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร บริษัทจึงได้มีการใช้กลยุทธ์ใหม่ที่เน้นการทำกำไรจากสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงมาตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้น อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นเป็น 7.81% ในปี 2561 จากเดิมที่ระดับ 0.22% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับตัวลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 3.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบยางธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
ขยายธุรกิจถุงมือยาง ประมาณ 20% ของรายได้รวมของบริษัทมาจากธุรกิจถุงมือยาง ในช่วงปี 2561 จนถึงครึ่งแรกของปี 2562 ล่าสุดบริษัทสามารถดำเนินการควบรวมกิจการของ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ไทยกอง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่มีฐานอยู่ในจังหวัดตรังและมีกำลังการผลิตถุงมือยางรวม 4 พันล้านชิ้นต่อปีจนเป็นผลสำเร็จ การควบกิจการครั้งนี้จะช่วยทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็น 21.2 พันล้านชิ้นต่อปี ในการนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 3 ของผู้ผลิตถุงมือยางระดับแนวหน้าของโลก ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
โครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 48.8% ณ เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับระดับ 47.6% ณ สิ้นปี 2561 จากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนและการมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้น ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าค่าใช้จ่ายลงทุนรายปีของบริษัทจะค่อนข้างผันแปรในระหว่างปี 2562 จนถึงปี 2565 โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะใช้ไปในการขยายกำลังการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตถุงมือยางและการแปรรูปยางแท่ง ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ที่เพียงพอ โดยคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ในระดับที่สูงกว่า 4 เท่า ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงสามารถบริหารจัดการได้โดยบริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งและมีกระแสเงินสดภายในที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้รวมของบริษัทจะปรับตัวลดลง 18% ในปี 2562 แต่จะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4%-10% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565
อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 8%-10% และ 5%-8% ตามลำดับ
ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 2562 และ 800 ล้านบาทถึง 2 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าภาวะชะลอตัวของธุรกิจในปัจจุบัน อาจส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมีสาระสำคัญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้ในกรณีที่บริษัทสามารถทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีอัตรากำไรและกระแสเงินสดที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 8.0 เท่าในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง