AOT คาดรายได้งวดปี 63 โต 7-8% จากจำนวนผู้โดยสารโต 5-6% จากงวดปี 62 ที่โตต่ำ 1.7%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 25, 2019 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดว่าในงวดปี 63 (ต.ค.62-ก.ย.63) จำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 5-6% จากงวดปี 62 เติบโตเพียง 1.7% ที่รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนปรับตัวลดลง รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าจีนและสหรัฐ และสภาพสนามบินแออัด แต่งวดปี 63 เชื่อว่าผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง นักท่องเที่ยวเริ่มมีทิศทางดีขึ้น และสอดคล้องกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 3-4%

ส่วนรายได้ในงวดปี 63 คาดว่าจะเติบโต 7-8% สูงกว่าการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ที่ 700 บาท/คน ขณะที่กำไรสุทธิคาดว่าเติบโตในอัตราไม่สูง ส่วนหนึ่งบริษัทต้องตั้งสำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานราว 700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในงวดปี 63 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) และรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Aero) ยังใกล้เคียงกันที่ 57:43 เพราะในปีนี้ยังคงได้รับรายได้ดิวตีฟรีทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคจำนวน 8.8 พันล้านบาท ตามสัญญาเดิม แต่ในงวดปี 64 จะเห็นรายได้จาก Non-Aero กระโดดขึ้นมาเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 50:50 เพราะเปลี่ยนเป็นสัญญาดิวตี้ฟรีฉบับใหม่ทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาค รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ AOT จะมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 2.4 หมื่นล้านบาท/ปี

นายนิตินัย กล่าวว่า ในช่วงปี 58-59 ผลประกอบการบริษัทเติบโตตามการเติบโตของสายการบินโลว์คอส์ตแอร์ไลน์ แต่ในปี 60-61 เส้นทางในประเทศเริ่มแผ่วลงอย่างชัดเจน แต่ได้เส้นทางระหว่างประเทศทดแทนจากสายการบินโลว์คอสต์ที่ขยายไป ส่วนปี 62 จนถึงปี 67 ก่อนที่จะเปิดใช้อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 และการขยายสนามบิน ในช่วงนี้บริษัทได้วางแผนจะนำรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาประคองธุรกิจ ได้แก่ ดิวตี้ฟรี เมืองการบิน (Airport City)เป็นต้น อย่างไรก็ดี ดิวตี้ฟรี จะเริ่มรับรู้รายได้จากสัญญาใหม่ในงวดปี 64 และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (แซทเทิลไลท์) กว่าจะเปิดปลายปี 63 ฉะนั้นก็ยังเป็นโจทย์ที่จะประคองธุรกิจในงวดปี 63

สำหรับ Airport City ที่เป็นที่ดินแปลง 37 มีพื้นที่ 600-700 ไร่ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่มีอายุเช่าอยู่เพียง 12 ปี บริษัทได้หารือในหลักการกับกรมธนารักษ์ที่แก้ไขระยะเวลาโดยขยายเวลาสิ้นสุดออกไปเป็นปี 95 จากที่จะสิ้นสุดในปี 75 โดยคาดจะมีการลงนามสัญญาได้ใน 1-2 เดือนนี้

ขณะที่ดินอีกแปลงที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ 725 ไร่ อยู่ระหว่างเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเข้มมาเป็นสีน้ำเงิน (พื้นที่โซนราชการ) พร้อมทั้ง คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การลงทุนในการพิจารณาโครงการต่างๆที่มีเอกชนเสนอเข้ามาแล้วกว่า 40 รายทั้ง 2 แปลงให้เหมาะในแต่ละพื้นที่ ซึ่งคาดว่าคงจะมีรายได้ในปีนี้ไม่มากนัก

ในงวดปี 63 AOT จะมีรายได้เพิ่มเข้ามาจากบริษัทย่อยใน 3 กิจการ ได้แก่ โครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) ซึ่งอยุ่ระหว่างการจัดตั้งบริษัท โดย AOT ถือ 49% รายอื่นเข้าร่วม 51% ได้แก่ บมจ.การบินไทย (THAI) บริษัท บางกอกไฟลท์เซอร์วิสเซส จำกัด (Bangkok Flight Services (BFS)) คาดจัดตั้งเสร็จในไตรมาส 1/63

บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด ที่มี AOT ถือหุ้นสามัญ 49% บริษัท รักษาความปลอดภัย เอเอสเอ็ม แมเนจเมนท์ จำกัด (ASM) ถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ 41.18% บริษัท รักษาความปลอดภัย พลังร่วม จำกัด ถือหุ้นสามัญและบุริมสิทธิ์ 7.22% และบริษัทรักษาความปลอดภัย เอ็ม เอ ไอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (MAI) ถือหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ 2.60% จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน เม.ย.63 ขณะที่บริษัทที่ให้บริการภาคพื้นได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาราว 40-50 ล้านบาท

รวมทั้งจะมีรายได้จาก AOT Digital Airports ในรูปแบบแอพพลิเคชั่นที่จะให้บริการผู้โดยสารได้ดีขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะดึงร้านค้าเข้าร่วมในแอพพลิเคชั่นดังดล่าว คาดว่าจะให้บริการ Full option ในเดือน พ.ย.นี้

ปัจจุบัน AOT บริหาร 6 ท่าอากาศยาน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เขียงใหม่ และ เขียงราย

ในงวดปี 61 มีรายได้ 6.2 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท ในงวด 9 เดือนงวดปี 62 มีรายได้ 4.9 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 1.99 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ