นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจคะแนนด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ปี 62 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย 677 บริษัท พบว่ามีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 82% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ปี 54 และเพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 81% จากจำนวน 657 บริษัท
นอกจากนี้ ยังพบว่า บจ.ไทย ยังมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการใน CH Code และสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน
ทั้งนี้ หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวด พบว่า หมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80% ขึ้นไปมี 4 หมวด คือ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้นมีคะแนน 94% การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันมีคะแนน 92% การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสมีคะแนน 86% และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย มีคะแนน 81% ส่วนหมวดความรับผิดชอบคณะกรรมการ ยังมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 75% แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าทุกหมวด ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
นอกจากนี้ จากการประเมินยังพบว่า บจ.ที่มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80% หรือได้ 4 ดาวขึ้นไปมีจำนวนถึง 451 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทที่ได้คะแนน 80-89% มีจำนวนรวม 258 บริษัท คิดเป็น 38% และบริษัทได้คะแนน 90% ขึ้นไป หรือ 5 ดาว มีจำนวน 193 บริษัท หรือคิดเป็น 29%
ด้านนายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าวว่า หลังจากนี้การประเมิน CGR ควรยกเครื่องวิธีการประเมินใหม่ โดยมุ่งพัฒนา 3 ด้าน คือ 1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ทันสมัย ครอบคลุมถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) และลดความซ้ำซ้อนกับการประเมินจากองค์กรอื่นๆ 2.ในการประเมิน CGR จะใช้ตัวชี้วัดที่ทำให้สามารถระบุประเด็นที่ บจ.ต้องปรับปรุงอย่างชัดเจน 3.ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้ผลประเมินตั้งแต่ระดับดีพอใช้ไปจนถึงระดับดีเลิศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในทุก บจ.
ทั้งนี้ IOD ตั้งเป้าหมายที่จะเริ่มใช้แนวทางการประเมินใหม่ในปี 65 และจะจัดกิจกรรมสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ บจ. ตลอดปี 63-64 ซึ่งใน 2 ปีนี้จะประเมิน CGR ตามปกติด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางเดิมไปก่อน
ขณะที่นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตลท.ได้ร่วมมือกับ IOD ได้พัฒนา CGR ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นประโยชร์ต่อบริษัทจดทะเบียนในการพัฒนาการดำเนินธุรกิจ และประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในการนำไปใช้ และควรพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับปัจจุบัน กองทุน ESG และสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ทั่วโลกที่พิจารณาเรื่อง ESG เติบโตอย่างต่อเนื่องเกือบ 12 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ บจ.ไทย จากประเด็นดังกล่าว
ขณะเดียวกัน การส่งเสริมและยกระดับบจ.ให้ดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ เป็นหนึ่งในภารกิจการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนของ ตลท.ตามวิสัยทัศน์ To Make the Capital Market Work for Everyone