บมจ.แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 1,018,000,000 หุ้น ในช่วง 4.00-4.40 บาท กำหนดระยะเวลาจองซื้อสำหรับบุคคลทั่วไปวันที่ 1, 4-5 พ.ย.62 จำนวน 407,200,000 หุ้น คิดเป็น 40% ส่วนผู้ลงทุนสถาบันจะเสนอขายในวันที่ 6-7 พ.ย.62 จำนวน 610,800,000 หุ้น คิดเป็น 60% รวมมูลค่าการเสนอขาย 4,072,000,000-4,479,200,000 บาท
ทั้งนี้ ACE คาดว่าจะนำหุ้นสามัญเพิ่มทุนเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 13 พ.ย.นี้ โดยมี บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และแต่งตั้ง บล.ทรีนีตี้ และ บล.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม และแต่งตั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล. ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ 1. ใช้เป็นเงินทุนสำหรับลงทุนในโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะใช้เงิน 1,306-1,440 ล้านบาทในปี 62-64 ได้แก่ โครงการ SPP Hybrid เป็น โรงไฟฟ้า SPP นาบอน 2 ประมาณ 330-358 ล้านบาท, โรงไฟฟ้า SPP คลองขลุง ประมาณ 260-280 ล้านบาท, โรงไฟฟ้า SPP นาบอน 1 ประมาณ 326-355 ล้านบาท, โรงไฟฟ้า SPP ระนอง ประมาณ 300-327 ล้านบาท ส่วนโครงการโรงไฟฟ้า MSW กระบี่ ประมาณ 90-120 ล้านบาท
นอกจากนั้นจะใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างขอรับคืนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่กลุ่มบริษัทอาจได้มาเพิ่มเติมในอนาคต คาดว่าจะใช้เงิน 1,237-1,639 ล้านบาทในปี 63-65
บริษัทยังจะนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และ/หรือ ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทฯ รวมทั้งใช้ชำระคืนกู้ยืมสถาบันการเงิน และ/หรือ ภาระหนี้สินอื่นใดของที่กลุ่มบริษัทฯ อาจมีขึ้นในอนาคต คาดว่าจะใช้เงิน 1,450-2,200 ล้านบาทในปี 62-63
และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มสำหรับลงทุนในโครงการอื่นๆ เช่น การลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรโรงไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงิน 0-100 ล้านบาท ในปี 62-64
นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ACE จะจัดโรดโชว์นำเสนอข้อมูลศักยภาพของบริษัทฯ และทิศทางการขยายธุรกิจแก่นักลงทุน ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ หลังจากที่นำเสนอข้อมูลแผนการดำเนินธุรกิจของ ACE ต่อนักลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่านักลงทุนมีความมั่นใจในพื้นฐานธุรกิจและอนาคตที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จึงกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นหุ้น IPO ที่ราคาหุ้นละ 4.0-4.4 บาท ซึ่งนักลงทุนรายย่อยจะต้องจองซื้อที่ราคาหุ้นละ 4.40 บาท ซึ่งเป็นราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น ในกรณีที่ราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่านั้น ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์รายที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการคืนเงินส่วนต่างค่าจองซื้อหุ้นให้กับผู้จองซื้อทุกราย โดยจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อในวันที่ 1, 4 และ 5 พ.ย.นี้
และทำการสำรวจความต้องการจองซื้อจากนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ซึ่งคาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายดังกล่าวในวันที่ 6 พ.ย.นี้ และจะเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อหุ้น IPO ที่ราคาเสนอขายสุดท้ายในวันที่ 6-7 พ.ย.นี้
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าวว่า บริษัทถือเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าชีวมวลส่งขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รายใหญ่ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีความสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยะชุมชนและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้ารูปแบบอื่น เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพสูง
บริษัทมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวมเป็นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 67 และกำหนดวิสัยทัศน์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต้นแบบของโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้ถือหุ้น
ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 13 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 211.18 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งสิ้น 166.5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีความเชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขยะชุมชน และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นพอร์ตธุรกิจหลัก
นอกจากนี้ บริษัทมีเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการขยายการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อยู่ระหว่างขอคืนสัญญาขายไฟฟ้า และอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมการเข้าซื้อหุ้น รวมทั้งสิ้น 20 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 210.19 เมกะวัตต์ และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟผ. และ กฟภ. รวม 168.71 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้า 20 โครงการดังกล่าว แยกเป็น 1.โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 9 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 101.29 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟผ. และ กฟภ. รวม 80.71 เมกะวัตต์ 2.โครงการที่อยู่ระหว่างการขอคืนสัญญาขายไฟฟ้า 10 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟภ. รวม 80.00 เมกะวัตต์ และ 3.โครงการที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าซื้อหุ้น อีก 1 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 9.90 เมกะวัตต์ มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา PPA กับ กฟภ. รวม 8.00 เมกะวัตต์ ที่จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 59-61 มีรายได้รวม 2,161 ล้านบาท 4,346 ล้านบาท และ 4,849 ล้านบาท ตามลำดับคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 50% และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท 334 ล้านบาท และ 547 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 102% ส่วนผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 62 มีรายได้รวม 2,555 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท