(เพิ่มเติม) SAMART ลุ้นคว้างานกลุ่มไอซีทีเพิ่ม H2/62 หนุน Backlog ของ SAMTEL ดันรายได้กลุ่มปี 62 ใกล้เคียงเป้าหมาย 1.8 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 29, 2019 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 นับว่าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในสายธุรกิจไอซีที ของบมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) ยังเป็นแหล่งรายได้หลักของกลุ่ม โดยปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) แล้วกว่า 9 พันล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสเข้าประมูลโครงการรวมราว 1 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการพัฒนาซอฟท์แวร์ด้าน Finance Solution ให้กับลูกค้ากลุ่มธนาคาร ,โครงการของกรมสรรพสามิต ,โครงการของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยคาดว่าจะชนะประมูล 60-70% ของมูลค่างานที่เข้าประมูล

นอกจากนี้ SAMTEL ยังมีงานที่รอเซ็นสัญญาอีก 1 พันล้านบาท เป็นโครงการของธนาคารออมสิน และปลายปีนี้คาดจะทราบผลโครงการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต มูลค่า 8 พันล้าบาท ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้ SAMTEL จะมี Backlog สูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท โตกว่าปีก่อนที่มี Backlog อยู่ที่ 7 พันล้านบาท และ 6.5 พันล้านบาทในปี 60 โดย SAMTEL หันมาเน้นกลุ่มธนาคารทั้งรัฐและเอกชนมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 70-80% และอีกกว่า 20% เป็นงานเอกชน

นายวัฒน์ชัย คาดว่าผลการดำเนินงานของ SAMTEL ในปีนี้จะเติบโตทั้งรายได้และกำไร เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะในไตรมาส 4/62 จะรับรู้รายได้มากที่สุดของปี เพราะส่วนใหญ่ส่งมอบงานในไตรมาส 4 นี้

ดังนั้น คาดว่าในปีนี้ SAMART จะทำรายได้รวมได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จาก SAMTEL มีสัดส่วนถึง 50% ขณะเดียวกัน สัดส่วนจากรายได้ประจำในปีนี้มีสัดส่วน 40% และคาดว่าในปีหน้ารายได้รวมน่าจะมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และมีสัดส่วนรายได้ประจำเพิ่มเป็น 50% เพราะบริษัทมีงานที่มีสัญญาระยะยาวเน้นงานบำรุงรักษา ซึ่งบริษัทมีจุดแข็งมีพนักงานที่สามารถดูแลระบบบำรุงรักษาได้ โดยมีแผนขยายศูนย์บำรุงรักษาให้ครบทุกจังหวัดจากปัจจุบันมี 50 กว่าแห่ง

ขณะที่บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) ในปีนี้ก็พลิกฟื้นหลังจากทรานส์ฟอร์มมาตั้งแต่ปี 60 โดยผลการดำเนินงานแม้จะยังขาดทุนแต่ก็จะลดลงจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 1.6 พันล้านบาท และรายได้คาดปีนี้อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ดีกว่าปีก่อนที่มี 770 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ต่ำที่สุด และคาดว่าในปี 63 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ SDC มีโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มาจากโครงการติดตั้งโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และเสาโทรคมนาคม ในกรมอุทยานที่เริ่มรับรู้รายได้ รวมถึงโครงการ Digital Trunk Radio หรือบริการวิทยุสื่อสารคมนาคมระบบดิจิทัล ที่ปัจจุบันมีลุกค้ารายใหญ่ อาทิ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมป้องกันสาธารณภัย โดยปีหน้าตั้งเป้าจำหน่ายไว้ประมาณ 6 หมื่นเครื่อง จากปีนี้คาดขายได้ 9 พันเครื่อง จากกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการเดินเรือ ระบบติดตามเรือนำเที่ยวให้กับเรือในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล

นอกจากนี้ SDC มีโครงการใหม่ที่สร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟทั่วประเทศ หรือ Google Station ที่จับมือกับบมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) ในการทำตลาด โดย SDC จะมีรายได้จากการเข้าไปหาพื้นที่และติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟ พร้อมดูแลรักษาตลอด 5 ปี โดยตั้งเป้าติดตั้งจำนวน 1 หมื่นจุด ภายในปี 63 ซึ่งล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงกับกรมอาชีวะ เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟในสถาบันอาชีวะ 428 แห่ง

ด้านบริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด (SUT) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค โดยบริษัท เทด้า จำกัด (TEDA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้มีการเซ็นสัญญาในโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และโครงการสายไฟลงดิน รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท และยังมีโอกาสเข้าประมูลโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอีกหลายเส้นทาง และยังมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ด้านการจัดการพลังงานด้วย โดยขณะนี้รอนโยบายจากกระทรวงพลังงาน อาทิ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งบริษัทได้ศึกษาโครงการอยู่

ส่วนความคืบหน้าการนำบมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น ปัจจุบันผ่านขั้นตอนการยื่นแบบคำขอ และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายหุ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค.63

ทั้งนี้ SAV เป็น Holding company เน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดยปัจจุบันถือหุ้น 100% ใน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) เพียงบริษัทเดียว โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้ ลดภาระดอกเบี้ย และรองรับการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่ม SAMART ในอนาคต อีกทั้งจะสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นและเหมาะสมของ CATS ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ทั่วน่านฟ้ากัมพูชา เป็นเวลา 39 ปี นับจากปี 2545-2584


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ