(เพิ่มเติม) TUF ตั้งเป้าปี 51 ยอดขายในรูปดอลลาร์โต 12%, เล็งขยายกองเรือ-ฐานการผลิต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 27, 2008 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายในปี 51 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐโต 12% ส่วนยอดขายในรูปเงินบาทโต 6% จากปี 50 
ทั้งนี้ ในปี 51 ยอดขายในรูปเงินเหรียญจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านเหรียญ จากปี 50 ที่ 1.6 พันล้านเหรียญ ส่วนยอดขายในรูปเงินบาทนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.89 หมื่นล้านบาท จากปี 50 ที่อยู่ที่ 5.55 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น แนวโน้มราคาปลาทูน่าที่อ่อนตัวลง
"แนวโน้มของการดำเนินงานในปี 51 บริษัทยังคงมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ยอดขายของบริษัทยังสามารถเติบโตได้อีก โดยดูจากตัวเลขผลประกอบการแล้วจะเห็นว่ายอดขายยังเติบโตทั้งรูปเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐ" นายธีรพงศ์ กล่าว
ส่วนกำไรสุทธิ ปี 51 คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.82 พันล้านบาท เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงปีนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน และตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นปี 51 อยู่ระดับ 14-16% สูงจาก 13.7%ในปี 50 ทั้งที่ในปีนี้ปัจจัยลบก็ยังอยู่ได้แก่ เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ราคาปลาทูน่า และ ราคาน้ำมันยังคงระดับสูง ขณะที่บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 2% จากกำลังผลิตทั้งหมดทุกผลิตภัณฑ์เป็น 4 แสนตันต่อปี จากปีก่อนที่มี 3.8 แสนตันต่อปี รวมทั้งมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่
"เราตั้งเป้าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน ผมคิดว่า TUF มีจุดแข็งที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ยังไงเราก็หวังเห็นการเติบโตทั้งยอดขายและกำไร ในรูปเงินเหรียญสหรัฐเราคิดว่ายอดขายจะโตต่อเนื่องจากปีที่แล้วทำได้ตามเป้า คิดว่าปีนี้อยู่ที่ 1,800 ล้านเหรียญ และปีหน้า(52) จะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านเหรียญได้ตามที่เป้าไว้" นายธีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ การตั้งเป้ายอดขายในรูปเงินบาทในปีนี้ที่เติบโต 6% ตั้งอยู่บนอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนที่มีอยู่บนอัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.43 บาท/ดอลลาร์ แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าเป็นระดับที่สำคัญ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% จากปี 50 ก็จะกระทบยอดขายในรูปเงินบาท ที่อาจจะไม่โตเช่นปีก่อนที่เติบโตเพียง 0.9% จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมา 8.8% และมองว่าเงินบาทระดับ 32 บาท/ดอลลาร์มีความเป็นไปได้มากที่จะแตะระดับนี้ โดยขณะนี้การขายล่วงหน้าของบริษัทกำหนดที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยนระดับนี้ ซึ่งยอดขายของบริษัทส่วนใหญ่ขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐ 90%
ส่วนราคาปลาทูน่าเชื่อว่าปีนี้ราคาก็ยังอยู่ในระดับสูง แต่คิดว่าจะไม่เห็นนิวไฮ แต่ราคาจะอยู่เหนือ 1 พันล้านหรียญ/ตัน จากปีก่อนที่ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 1,650 เหรียญ/ตันซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และราคาเฉลี่ยทั้งปี 50 อยู่ที่ 1,280 เหรียญ/ตัน เนื่องจากมีการจับปลาได้น้อยลงแทบทุกมหาสมุทร ทำให้ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 1,450 เหรียญ/ตัน คงไม่เห็นกลับมาราคาระดับ 600-1,000 เหรียญ/ตัน และเชื่อว่าราคายังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันก็ยังคงระดับสูงซึ่งได้ไปถึงระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทำให้บริษัทได้ปรับตัวโดยการเพิ่มการผลิตมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน และทำให้บริษัทได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยปีก่อนมีรายได้จากสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง 57% และส่งออกทูน่าเพิ่มขึ้น 40% และกุ้งแช่แข็ง 10% จาก 35-37% และ 8% ตามลำดับ และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ในประเทศ ที่เน้นอาหารสุขภาพ และ สะดวก
"เราคาดว่า ธุรกิจกุ้ง จะเข้มแข็ง และทูน่าก็น่าจะโตค่อนข้างสูง ปีนี้เรามั่นใจดีกว่าปีที่แล้ว เพราะไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ ราคาน้ำมันก็ขึ้นไปเยอะแล้ว รคาปลาก็ขึ้นไปทำนิวไฮแล้ว" นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยไม่ได้กระทบกับสินค้าของบริษัท เพราะเป็นสินค้าทูน่าก็เป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการ โดยปีนี้ในสหรัฐคาดว่าจะมียอดขายราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนที่มี 750 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าภายใน 3 ปีจะมียอดขายจะใกล้เป้าหมายที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ ปีนี้บริษัทหวังได้ประโยชน์จากจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น(JETEPA) และการลดอัตราภาษีนำเข้าของสหภาพยูโรป(EU) ที่จะช่วยเพิ่มยอดขาย
ปีก่อนยอดขายหลักมาจากตลาดสหรัฐ 55% ยุโรป 12% ญี่ปุ่น 9% ในประเทศ 9%
*เล็งลงทุนขยายกองเรือ-ฐานการผลิตต่างประเทศ
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนต่อเนื่อง ได้แก่ ในเรื่องฐานการผลิต ที่มองประเทศที่เหมาะเข้าลงทุนขยายฐานการผลิตที่อินเดีย โดยจะเข้าไปในลักษณะเข้าซื้อโรงงานที่มีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่เข้าลงทุนในเวียดนาม และ อินโดนีเซีย ซึ่งได้กำไรในปีแรกและคืนทุนได้ภายใน 4 ปี
โดยปัจจุบัน บริษัทมีพันธมิตรในอินเดียในธุรกิจอาหารกุ้ง ซึ่งบริษัทได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ที่ร่วมมือกันมานานกว่า 5 ปี
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในช่วงที่เงินบาทแข็ง แต่เงินดอลลาร์อ่อนตัวก็มีโอกาสขยายการลงทุนที่สหรัฐฯได้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 แห่งแล้ว และยังมีฐานการผลิตที่ไทย อเมริกัน ซามัวร์ อินโดนีเซีย และ ล่าสุดที่เวียดนาม ที่เริ่มผลิตแล้ว กำลังการผลิต 100 ล้านตัน/วัน
ขณะเดียวกันของมองว่าจะขยายกองเรือประมงเพื่อจับปลาทูน่า ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 ลำ และเห็นว่ากองเรือที่เหมาะสมควรจะมีกองเรืออยู่ประมาณ 6-7 ลำ โดยเงินลงทุนเท่ากับ 12-15 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ คาดว่าแนวโน้มการลงทุนกองเรือในช่วง 2-3 ปี จะช่วยลดต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก จากการที่มีวัตถุดิบหาได้เอง การจัดซื้อนิ่งขึ้น และบริษัทมีอำนาจต่อรองดีขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งงบลงทุนปกติปีนี้ 1 -1.2 พันล้านบาท เท่ากับปีก่อน ไม่นับการลงทุนใหม่ โดยบริษัทมีเงินทุนอยู่ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมเข้าลงทุนโดยไม่กระทบฐานะทางการเงิน และไม่ต้องเพิ่มทุน
"เราก็ดูอยู่เรื่องขยายฐานการผลิต ช่องทางการตลาด ซึ่งเรามองหาโอกาสเหมือนเดิม ...ในย่านนี้ประเทศที่เหมาะเข้าลงทุนก็มีเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย" นายธีรพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ