นายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิริตี้ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.อมตะคอร์ปอเรชั่น (AMATA) กล่าวในงานเสวนา "การพัฒนานวัตกรรมพลังงานกับการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า อมตะได้วางเป้าหมายในการพัฒนา สมาร์ทซิตี้กำหนดเป็นแผน ระยะ 5 ปี โดยขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการกำหนดกรอบพื้นที่ในการทำ สมาร์ท ซิตี้ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ซึ่งในส่วนของสมาร์ท เอเนอร์จี้ หรืออัจฉริยะ ด้านพลังงาน ขณะนี้อมตะได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนน้ำ (Solar Floating) และการนำขยะมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานไฟฟ้าเพื่อการนำทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนน้ำนั้น บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทในกลุ่มอมตะ จะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งด้านการลงทุนและขนาดกำลังการผลิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้งที่จะสามารถนำมาผลิตได้ ทั้งในกระบวนการผลิตน้ำที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรม รวมถึงรูปแบบการจัดจำหน่ายเพื่อเชื่อมโยงเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก (Grid) สำหรับขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ซึ่งจะนำร่องในนิคมฯ อมตะ ซิตี้ชลบุรี คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มเห็นความชัดเจนประมาณปี 2563
ด้านนางสาวนวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง
เนื่องจากเป็นพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศและเป็นพื้นที่มีการใช้พลังงานในสัดส่วนที่สูงจากจำนวนสถานประกอบการที่มีการผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นจำนวนมากซึ่งการพัฒนานิคมฯทั้งสองแห่งกำลังมุ่งเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ในอนาคต ที่สอดคล้องกับการพัฒนาพลังงานของประเทศทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อการใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร
ทั้งนี้ พพ.ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานของประเทศเห็นความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาคส่วนเพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศมีความสมดุลและก่อให้เกิดความมั่นคงของระบบการใช้พลังงานสามารถพึ่งพาการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถสร้างการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ทิศทางของการพัฒนาด้านพลังงานสู่สมาร์ท ซิตี้ จะให้ความสำคัญการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาต่อยอดกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบทั้งในภาคการผลิตและการบริการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0ตามโยบายของรัฐบาล
"การบริหารจัดการด้านพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดังนั้นการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีส่วนร่วมในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในโรงงานทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การออกแบบอาคารโรงงาน รวมถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลทำให้ภาคการผลิตของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและพร้อมก้าวสู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะรวมถึงยังสอดรับแนวทางการลดใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือ EEP2015 ที่กำหนดเป้าหมายลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ภายในปี 2579" นางสาวนวลจันทร์ กล่าว