กสทช.เตรียมจัดประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ.63 จูงใจเว้นชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี พร้อมเปิดราคาคลื่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 30, 2019 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวในเวทีสัมมนา "โรดแมพ 5G ดันไทยนำอาเซียน" คาดว่าการจัดประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 และเริ่มบริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2563 หากดำเนินการทันตามกรอบเวลาจะสามารถเปิดให้บริการทันกับประเทศเพื่อนบ้าน หาก5G เกิดได้ทัน จะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563-2573 เฉลี่ยปีละ 5.68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)

ทั้งนี้ ผลการศึกษาราคาคลื่นความถี่ที่จะประมูลเพื่อทำ 5G คลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์(MHz) อยู่ที่ 35,370 ล้านบาท รวม 190 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยมีการประมูลจำนวน 19 ใบ ใบละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาใบละ 1,862 ล้านบาท ส่วนคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ์(GHz) ราคาอยู่ที่ 8,100 ล้านบาท รวม 2700 เมกะเฮิร์ตซ์ แบ่งเป็น 27 ใบอนุญาต ขนาดความถี่ใบละ 100 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาใบละ 300 ล้านบาท

ส่วนเกณฑ์ในการประมูลจะกำหนดให้ ปีแรกจ่าย 10% ปีที่ 2-4 พักการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ชำระอีกครั้ง 15% ปีที่ 5-10 ทั้งนี้มีเงื่อนไขต้องลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่สมาร์ทซิตี้

"ขอให้ความมั่นใจผู้ที่จะลงทุนทำ 5G ว่าเมื่อลงทุนแล้ว 5G จะเกิดขึ้นแล้วมีผู้ใช้งานแน่นอน ด้วยการขับเคลื่อนของรัฐบาลจึงมั่นใจว่าจะมีการใช้งานของภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง"นายฐากร กล่าว

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า 5G ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2563 ตามที่นายกรัฐมนตรีมีความเห็นเรื่องนี้ไว้ การเดินหน้าเรื่อง5G ไม่ใช่เพราะคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ แต่เป็นเรื่องสำคัญให้ไทยเดินหน้าต่อไปได้ การไป5G ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคมอย่างเดียว แต่จะมาปฏิรูปธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งโลก 5G ในสถานการณ์การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจทำให้มีการมองถึงฐานการผลิตใหม่ๆ ถ้าเราไม่สามารถดึงดูดการย้ายฐานการผลิตได้ไทยจะเสียโอกาสในการแข่งขัน อาเซียนได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เราจึงต้องทำ 5G ให้สำเร็จ 5G ต้องเกิดให้ได้

ทั้งนี้ การใช้คลื่นความถี่สำหรับ 5G ไม่ได้ใช้ไปเพื่อการบริการโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่การประมูลคลื่นความถี่ 5G ครั้งนี้จะมีผู้เข้าแข่งขันรายใหม่คือบมจ.ทีโอที (TOT) และบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) เข้าร่วมประมูลคลื่นด้วยโดยกระทรวงดีอีเอสจะเป็นผู้สนับสนุน ทั้ง 2 บริษัทหรือบริษัทที่เกิดจากการควบรวมจะเข้าประมูลเพื่อทำบริการ 5G ที่เป็นประโยชน์กับสังคม กระทรวงเห็นว่าคลื่นความถี่ 3400 เมกะเฮิร์ตซ์ไปใช้ประโยชน์ในการทำ 5G ซึ่งหากเป็นไปได้จะมีคลื่นความถี่ที่นำไปพัฒนา 5G ได้มากกว่า 100 เมกะเฮิร์ตซ์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคการเงินการผลิต การขนส่ง ได้หลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยโครงสรร่างพื้นฐานทางโทรคมนาคม 5G เป็นพื้นฐานสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม 5G จะลดช่องว่างทางสังคม ช่วยเพิ่มรายได้และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญดังกล่าวจึงตั้งกรรมการระดับชาติขับเคลื่อน5G โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ