โบรกเกอร์เห็นพ้อง"ซื้อ"หุ้นบมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มองน่าสนใจในแง่ Valuation หลังราคาหุ้นปรับตัวลงไปมากแล้ว โดยปัจจุบัน TU ซื้อขายที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี ขณะที่ประเด็นจากการที่สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยบางรายการ ซึ่งจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อ TU แต่อย่างใด เพราะผลิตภัณฑ์หลักของ TU ได้แก่ ทูน่าและกุ้ง ไม่เคยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ก่อนหน้าอยู่แล้ว
ด้านผลดำเนินงานปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะต้องเผชิญผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปรับลดประมาณการลงได้ โดยต้องรอดูผลประกอบการงวดไตรมาส 3/62 ก่อน ซึ่งคาดกำไร 1,410 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาเรื่องการตั้งสำรองฯของ TU จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แม้ทาง TU จะบอกว่าว่าไม่ตั้งสำรองฯเพิ่มแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังไม่ไว้วางใจ และถ้า TU ไม่ตั้งสำรองฯอีกก็จะดี เนื่องจากยังมีกรณีทำประมงผิดกฎหมายของ John West ด้วย และ TU ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังถ่วงอยู่ อย่างไรก็ดี ในปี 2563 กำไรจะเติบโตเมื่อเทียบปีก่อน จากฐานกำไรที่ต่ำในปี 2562
พักเที่ยงหุ้น TU อยู่ที่ 13.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 3.76% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.34%
บัวหลวง ซื้อ 23.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 20.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อเก็งกำไร 15.80 ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ซื้อ 18.00
น.ส.นารี อภิเศวตกานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้น TU มีความน่าสนใจในแง่ของราคาหุ้นที่ปรับตัวลงไปมากแล้ว ขณะที่เรื่องสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทยบางรายการนั้น ก็ไม่ได้กระทบต่อ TU มาก เพราะไทยไม่ค่อยจะได้รับสิทธิอยู่แล้ว และในแง่ของ Operation ปีนี้ TU คงจะทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว โดยคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ 3,800 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ก็มีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการลง อันเป็นผลจากการปรับสมมติฐานของเงินบาทที่ล่าสุดแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 30.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ฝ่ายวิจัยตั้งสมมติฐานเงินบาทไว้ที่ 30.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ตอนนี้จึงต้องขอดูทิศทางเงินบาทก่อน
นอกจากนี้ยังต้องรอดูผลประกอบการงวดไตรมาส 3/62 ด้วยว่าจะออกมาเป็นอย่างไร โดยฝ่ายวิจัยได้คาดกำไรไตรมาส 3/62 ไว้ที่ 1,410 ล้านบาท อีกทั้งขณะนี้ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการตั้งสำรองฯของ TU ว่าจะเพิ่มหรือไม่ แม้ว่าทาง TU จะบอกว่าไม่ตั้งสำรองฯเพิ่มแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังไม่ไว้วางใจ และถ้า TU ไม่ตั้งสำรองฯอีกก็จะดี
"ในแง่การส่งออก TU รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้ TU ดูไม่ดีเท่าไร ... นอกจากนี้คนยังกังวลว่า TU จะตั้งสำรองฯเพิ่มจากกรณีทำประมงผิดกฎหมายของ John West ด้วย และ TU ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังถ่วงอยู่ แต่ TU ก็น่าสนใจก็ในเรื่องราคาหุ้นที่ปรับตัวลงไปเยอะแล้ว และการที่ไทยถูกตัด GSP ก็ไม่ได้กระทบต่อ TU"น.ส.นารี กล่าว
ด้านบล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น TU เนื่องจาก valuation ที่กลับมาดูน่าสนใจอีกครั้งจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง ประเด็นจากการตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย ผลิตภัณฑ์หลักของ TU ได้แก่ ทูน่าและกุ้ง ไม่เคยได้รับ GSP จากสหรัฐฯ ก่อนหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น การตัดสิทธิ GSP ของสินค้าของไทยที่นำเข้าไปในสหรัฐฯ จึงไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อ TU แต่อย่างใด
ปัจจุบันธุรกิจหลักของ TU ได้แก่ ทูน่ากระป๋องเสียภาษีนำเข้าไปที่สหรัฐฯ ในอัตรา 12.5% และกุ้งเสียภาษีนำเข้าไปที่สหรัฐฯ ที่อัตรา 5% โดยมีเพียง 2 ผลิตภัณฑ์ที่ TU ได้รับประโยชน์จาก GSP ของสหรัฐฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่ทำจากข้าว และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกุ้งเป็นส่วนผสม จึงมองว่าผลกระทบทางลบจากการตัดสิทธิ GSP ต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ถือว่าไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะสินค้ามูลค่าสูงอย่าง เช่น กุ้งและทูน่า ไม่ได้รับผลกระทบ
ส่วนบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ทางฝ่ายบริหารของ TU เชื่อว่าการส่งออกอาหารทะเลรวมถึงอาหารสัตว์ไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใน GSP ซึ่งมองว่าราคาหุ้น TU ที่ลดลงได้สะท้อนข่าวร้ายแล้วเรียบร้อย ปัจจุบัน TU ซื้อขายที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยในปี 2563 กำไรจะเติบโตสูงจากปีที่แล้ว ที่ฐานกำไรอยู่ในระดับต่ำ พร้อมทั้งปรับคำคำแนะนำขึ้นเป็น"ซื้อ"