บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 358 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% จาก 315 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรจากการดำเนินงานปกติในไตรมาส 3/62 มีจำนวน 303 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 156 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 352,862 บาร์เรล/วัน จาก 304,940 บาร์เรล/วันในไตรมาส 3/61 จากโครงการมาเลเซียตามการเข้าซื้อธุรกิจ Murphy Oil Corporation (Murphy) และโครงการบงกช สำหรับราคาขายเฉลี่ยลดลงเป็น 46.03 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 47.67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 3/61
อย่างไรก็ตามบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการตัดจำหน่ายหลุมสำรวจจำนวน 3 หลุม ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น 25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลักจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องกับพนักงานเพิ่มขึ้น
หากพิจารณาเฉพาะกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติในไตรมาส 3/62 จำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/61 ที่มีกำไร 23 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการรับรู้กำไรจากอนุพันธ์ทางการเงิน ในไตรมาส 3/62 จำนวน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไตรมาส 3/61 รับรู้ขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงิน 7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหลักจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน รวมทั้งในไตรมาส 3/62 ไม่มีการรับรู้ขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ (แหล่งมอนทารา) 37 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 3/62 จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไตรมาส 3/61 รับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 60 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากค่าเงินบาทในไตรมาส 3/62 แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าในไตรมาส 3/61
ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,185 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 335,696 บาร์เรล/วัน จากระดับ 300,338 บาร์เรล/วันในงวดปีก่อน ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 46.83 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 46.25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในงวดปีก่อน
ขณะที่ประเมินว่าทั้งปี 62 บริษัทจะมีปริมาณขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 345,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน การเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในประเทศมาเลเซียที่มีผลสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ราคาขาย ในส่วนของราคาน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยประเมินแนวโน้มราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปี 62 เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้น มีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน ซึ่งคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของปี 62 จะอยู่ที่ประมาณ 6.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ด้านการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาส 3/62 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
สำหรับต้นทุนในปี 62 คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในส่วนของอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) คาดว่าจะอยู่ระดับ 70-75% ของรายได้จากการขาย
PTTEP ระบุอีกว่า สำหรับความเสี่ยงต่อราคาขายก๊าซธรรมชาติของบริษัท จากการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organisation หรือ IMO) มีมติให้จำกัดปริมาณซัลเฟอร์ (Sulphur) ในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งทางเรือในปี 63 (IMO 2020) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเตา (Fuel Oil) ปรับตัวลดลงตามไปด้วยนั้น บริษัทคาดว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรง เนื่องจากโครงสร้างราคาขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทผูกกับราคาน้ำมันเตาเพียงส่วนหนึ่ง และอ้างอิงกับราคาน้ำมันคำนวณย้อนหลังเฉลี่ย 6-24 เดือน ราคาก๊าซธรรมชาติจึงไม่ได้รับผลกระทบจาก IMO2020 โดยทันที
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เข้าทำประกันความเสี่ยงเพื่อลดความผันผวนของราคาน้ำมันเตาในส่วนที่จะได้รับผลกระทบบางส่วน นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป บริษัทคาดว่าผลกระทบจาก IMO นี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติของโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) อ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบดูไบแทนราคาน้ำมันเตา
สำหรับแผนงานในครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้าน Execution เพื่อให้เป็นไปตามแผนในช่วงเปลี่ยนสิทธิการดำเนินงานโครงการที่ได้มา อาทิ โครงการของบริษัท Murphy ในประเทศมาเลเซีย , การดำเนินงานตามแผนการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ (Transition of Operations) ของโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามในสัญญาเข้าพื้นที่เบื้องต้นกับผู้รับสัมปทานปัจจุบัน และเริ่มเข้าสำรวจพื้นที่ (Site Survey) เพื่อเตรียมการติดตั้งแท่นผลิตเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องหลังจากสัมปทานของทั้งสองแหล่งหมดอายุลงในปี 65 และ 66 นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการเปลี่ยนสิทธิการบริหารงานของบริษัท Partex ซึ่งบริษัทได้เข้าซื้อกิจการ เมื่อไตรมาส 2/62 เพื่อขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางโดยพื้นที่หลักคือประเทศโอมานและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งคาดว่าการเข้าซื้อดังกล่าวจะมีผลสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้
บริษัทยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของการสำรวจปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองในระยะยาว โดยบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนเจาะหลุมประเมินผลในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี หลังจากค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่จากหลุมสำรวจหลุมแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการศึกษาแผนพัฒนาโครงการฯ สำหรับโครงการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงอื่น ๆ ในประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทมีแผนที่จะเร่งดำเนินการเจาะสำรวจในระหว่างปี 63-64 เพื่อประเมินศักยภาพของพื้นที่โดยรวมและกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาต่อไป
ณ สิ้นไตรมาส 3/62 บริษัทมีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมจำนวนกว่า 40 โครงการใน 12 ประเทศ โดยโครงการในทวีปออสเตรเลียนั้น มีโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ตั้งอยู่ในเครือรัฐออสเตรเลีย ประกอบด้วย 8 แปลงสัมปทาน ซึ่งในส่วนของแหล่งมอนทารา บริษัทได้มีการขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในแหล่งมอนทาราแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 และได้เสร็จสิ้นการส่งต่อการดำเนินการ (Operatorship Transfer)ให้กับผู้ซื้อแล้ว ส่วนแหล่ง Cash Maple ที่อยู่ในระยะเวลาสำรวจ (Exploration Phase) อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม พร้อมทั้งเตรียมการหาผู้ร่วมทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงของโครงการ และสำหรับแปลงสำรวจ AC/P54 ในแหล่ง Orchid มีการเจาะหลุมสำรวจจำนวน 1 หลุมเสร็จสิ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ผลจากการเจาะสำรวจค้นพบชั้นหินกักเก็บก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสท ความหนา 34 เมตร ทั้งนี้ โครงการมีแผนพัฒนาร่วมกับแหล่ง Cash Maple ต่อไป
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTEP กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัท เติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 9 เดือนของปีนี้ เป็นการสะท้อนความสำเร็จจากการเข้าซื้อกิจการในประเทศมาเลเซียตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งส่งผลให้บริษัท มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายปริมาณการขายเฉลี่ยของปี 62 ซึ่งตั้งไว้ที่ 345,000 บาร์เรล/วัน และเมื่อการซื้อกิจการของบริษัท Partex ซึ่งมีการลงทุนหลักอยู่ในตะวันออกกลางเสร็จสิ้น จะส่งผลให้ปริมาณการขายเพิ่มสูงขึ้นอีก
นอกจากนี้ การเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจในประเทศมาเลเซีย เช่น แปลงเอสเค 410 บี จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตให้กับบริษัทในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในแปลงเอสเค 410 บี จากการเจาะหลุมสำรวจแรก "ลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์ 2" ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการวางแผนเจาะหลุมประเมินผล เพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาแผนพัฒนา นอกจากนี้ ในปี 63-64 บริษัทมีแผนจะเร่งการเจาะสำรวจในโครงการอื่น ๆ ในประเทศมาเลเซียที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อประเมินศักยภาพในภาพรวม และกำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาที่เหมาะสมต่อไป