รัฐ-เอกชนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันที่ทุกส่วนต้องช่วยกันในการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อให้ทางเลือกทั้งการออมและระดมทุน โดยต้องเร่งให้ความรู้กับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มจำนวนนักลงทุนและจำนวนบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการมีสินค้าใหม่ๆ สร้างความลึกให้ตลาดทุน ขณะที่ภาครัฐควรหามาตรการจูงใจมาช่วยหนุน โดยเฉพาะมาตรการภาษีช่วยจูงใจ
ในการสัมมนาหัวข้อ "ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด"นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ควรมีการยกระดับการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันตลาดทุนถือว่ามีบทบาทหลักในการรักษาทุนและเชื่อมโยงเงินออมและเงินลงทุนให้กับการพัฒนาประเทศ
อีกทั้ง ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเร่งปรับระบบการเงินไทย โดยใช้ตลาดทุนให้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการออมและการลงทุนในอนาคต เพื่อเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจ
การสร้างความสามารถให้ตลาดทุนพร้อมในการรองรับกระแสโลกาภิวัฒน์ควรจะมีการสร้างความลึกให้ทั้งกับตลาดสารทุน ตราสารหนี้ และตลาดอนุพันธ์ รวมทั้งขยายความเชื่อมโยงตลาดเงินและตลาดทุนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยควรมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของระบบการเงิน
"ตลาดควรมีสินค้าและบริการที่ครบถ้วนเทียบเท่าตลาดในภูมิภาค เพื่อให้บริษัทในตลาดทุนไทยไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ"นายคณิศ ระบุ
นายคณิศ กล่าวว่า แนะนำว่าให้ใช้กลไกของธนาคารพาณิชย์จากที่มีเครือข่ายทั่วประเทศในการสร้างความเชื่อมโยง และ ยังเป็นช่องทางในการส่งเสริมการขายสินค้าของตลาดทุนให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ปรับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้มีการเป็นแบบ
Consolidation เพราะโครงสร้างระบบการเงินในอนาคต จะมี Business Synergy ร่วมกันทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และประกันมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบภาษีที่เกี่ยวกับการออมและการลงทุน เพื่อไม่ให้มีความเลื่อมล้ำระหว่างตลาดเงิน
ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ไทยพัฒนามาระดับหนึ่งแล้ว แต่จำนวนบริษัทจดทะเบียนยังมีน้อย ส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์และต้นทุนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนยังไม่จูงใจ เพราฉะนั้นสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนิติบุคคลถือเป็นแรงจูงใจสำคัญ ควรคงไว้เช่นเดิมก่อน และให้มีการศึกษาต้นทุนที่แท้จริงระหว่างบริษัทจดทะเบียนและบริษัททั่วไป เพื่อกำหนดภาษีและแรงจูงใจทีเหมาะสม
รวมทั้งต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่ให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลโดยเฉพาะสาธารณูปโภค ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกระจายผลประโยชน์ที่ได้จากภาครัฐให้กับประชาชน
ด้านนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณ กล่าวว่า ปัญหาที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดทุนน้อย เนื่องจากกลัวความเสี่ยงมากเกินไป ทำให้นักลงทุนจำนวนมากไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่หากมีการอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับการลงทุนถูกต้องและต่อเนื่องน่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักลงทุนได้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีการให้ความช่วยเหลือ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ
ขณะที่นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานและบรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ทำให้จำนวนนักลงทุนในตลาดยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันเจ้าของธุรกิจเองไม่มีความเข้าใจในเรื่องของตลาดทุน ทำให้ไม่อยากนำบริษัทเข้าจดทะเบียน ซึ่งจริงๆแล้ว การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนไม่ใช่เป็นเรื่องของการระดมทุนอย่างเดียว
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--