นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของ ปี 2562 จะมีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ มีการทยอยเปิด และประกาศผลการยื่นประมูลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทเซ็นสัญญาในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าชนิด ซีเอสพี (Completely Self-Protected Type) 3 เฟส 4 ให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถคว้างานเพิ่มอีกประมาณ 10% ของมูลค่างานที่ได้ยื่นประมูลงานการผลิตหม้อแปลงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่ารวมทั้งหมด 1,800 ล้านบาท
อีกทั้งยังได้ลงนามสัญญากับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยักษ์ใหญ่ของจีนเพื่อรับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่าย Huawei Solar Inverter ผลิตภัณฑ์แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) จากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจที่หลากหลายครบวงจรมากขึ้น และพร้อมที่จะขยายตลาด Solar Roof, Solar Farm และ Floating Solar ในอนาคต โดยระยะแรกตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า บริษัทจะสามารถกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นได้ และมั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นการกลับมาเทิร์นอะราวด์ ในภาพรวมของผลการดำเนินงานของ QTC อีกครั้ง
สำหรับการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/62 บริษัทมีรายได้รวม 212.40 ล้านบาท ลดลง 38.13 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 250.53 ล้านบาท หรือลดลง 15% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 33.5 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 2.37 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 714.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.55 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 654.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 152.5 ล้านบาท เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุนสุทธิ 52.5 ล้านบาท
สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจาก การรับรู้รายได้การขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับกระบวนการผลิตต่างๆ ภายใน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับกลยุทธ์ บุกงานต่างประเทศ เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพการปรับกลยุทธ์การติดตามหนี้ อีกทั้งการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของ บริษัท คิวโซลาร์ 1 จำกัด ขนาดกำลังผลิต 8.6 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ จังหวัดปราจีนบุรี
ณ สิ้นไตรมาส 3/62 บริษัทมียอดขายหม้อแปลงในมือ (backlog) จำนวนกว่า 500 ล้านบาท แบ่งเป็นงาน จากราชการ จำนวน 200 ล้านบาท งานเอกชน จำนวน 150 ล้านบาท และงานต่างประเทศ จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งมูลค่างานในมือดังกล่าวสามารถทยอยส่งมอบสินค้าได้ตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป