SUN รับทั้งปี 62 ไม่พ้นขาดทุน ลุ้นปีหน้าพลิกกลับเป็นกำไรหลังปรับรูปขาย-เน้นจัดการต้นทุน ,ตั้งเป้ารายได้ปี 63 โต 10-15%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 8, 2019 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซันสวีท (SUN) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 62 ยังคงมีผลขาดทุนสุทธิ หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 32.73 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ ซึ่งเริ่มเห็นผลประกอบการกลับมามีกำไรสุทธิได้แล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/62 และมีแนวโน้มที่ผลประกอบการปี 63 จะกลับมามีกำไร ตามรายได้ที่ตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% และมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 150,000 ตัน จากปีนี้ที่ 120,000 ตัน แบ่งสัดส่วนเป็น ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแช่แข็ง 25% ข้าวโพดหวานแบบกระป๋อง 60% และ ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสูญญากาศ 15%

พร้อมกันนี้ในช่วงต้นปีบริษัทเตรียมที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 2-3 ผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะกระตุ้นยอดขายในประเทศมากขึ้น จากช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มสินค้าใหม่ในกลุ่ม Ready to eat อาทิ ถั่วลายเสือต้ม และต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวโพดพร้อมทาน ได้แก่ ข้าวโพดข้าวเหนียว วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงเพิ่มปริมาณการผลิตมันหวานญี่ปุ่นพร้อมรับประทานที่วางจำหน่ายก่อนหน้านี้ให้เพียงพอต่อการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ซึ่งเชื่อว่าการเพิ่มประเภทสินค้านอกเหนือจากข้าวโพดหวาน จะสนับสนุนให้บริษัทสามารถขยายตลาดภายในประเทศเพื่อดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ยังมีกะทิสำเร็จรูป (coconut milk) น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม (coconut drink) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป 100% ที่จะเริ่มทำการตลาดให้มากขึ้นในปี 63 ด้วย

ในส่วนของตลาดต่างประเทศบริษัทได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ฮ่องกง รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีความต้องการข้าวโพดหวานปริมาณมาก ขณะเดียวกันได้ขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านการนำผลิตภัณฑ์ออกงานแสดงสินค้าและอาหาร โดยมุ่งไปยังกลุ่มประเทศยุโรป และ ตะวันออกกลาง จากการได้เปรียบในด้านคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ทำให้ได้รับความสนใจและมีคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น

การจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศนั้นบริษัทได้มีการปรับรูปแบบการจำหน่ายสินค้าให้มีราคาปรับไปตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่อ่อนค่าและแข็งค่า จากเดิมที่จะมีการจำหน่ายสินค้าล่วงหน้าแล้วไม่สามารถปรับราคาขายได้ รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ปีหน้าเรายังคงมั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยบริษัทได้มีการปรับรูปแบบการขายใหม่ จากเดิมที่มีการกำหนดราคาตายตัว ณ วันสั่งซื้อสินค้า แต่เราได้ปรับให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงตามค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไป และยังได้ทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ถึง 70% ในขณะเดียวกันบริษัทยังคงเน้นขยายตลาดเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ในประเทศสูงขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 20% และ ต่างประเทศ 80% โดยคาดว่าปี 63 สัดส่วนรายได้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% และต่างประเทศ 70%"นายองอาจ กล่าว

นายองอาจ กล่าวถึงความเสี่ยงด้านผลกระทบกับปัญหาภัยแล้ง และศัตรูพืชเข้ามาระบาดในพื้นที่บางส่วน ทำให้ปริมาณผลผลิตมีจำนวนที่ลดลง แต่บริษัทได้เพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการใช้ชีวภัณฑ์ตามหลักกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการให้ความรู้ควบคู่การใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกรใน Contract Farming จึงสามารถควบคุมผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/62 บริษัทมีรายได้รวม 514.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตลาดต่างประเทศและการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในประเทศ ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท ลดลง 96.7% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณการผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้งและแมลงระบาด รวมถึงได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น พร้อมทั้งคาดว่าทั้งปี 62 รายได้รวมจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% จากปี 61 ที่มีรายได้รวมประมาณ 1,800 ล้านบาท หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้แล้ว 1,406 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ