นายสุชาติ มงคลอารีย์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เจตาเบค (GTB) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 30-40% ในช่วง 3-5 ปีนี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ซึ่งบริษัทจะใช้กลยุทธ์การร่วมเป็นพันธมิตรกับธุรกิจท้องถิ่นในต่างประเทศเป็นช่องทางขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ โดยขณะนี้บริษัทมีธุรกิจท้องถิ่นในประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรหลักในการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
สำหรับแผนการขยายตลาดต่างประเทศของบริษัทในระยะต่อไปจะมองไปถึงโอกาสการขยายฐานไปที่กลุ่มลูกค้าจีนและอินเดีย ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความต้องการใช้สินค้าของบริษัททั้งประเภทเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Steam Boiler) และระบบเผาไหม้ (Cobustion System) ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าอุตสาหกรรมแทบทุกประเภท โดยจีนและอินเดียมีการขยายตัวของการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ของโลก ทำให้บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการมองหาพันธมิตรท้องถิ่นของทั้ง 2 ประเทศที่จะมาช่วยเป็นช่องทางในนำสินค้าไปเสนอขายให้กับลูกค้าของพันธมิตรรายนั้นๆ
โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการลงทุนขยายอุตสาหกรรมมากทั้งในประเทศจีนเอง และต่างประเทศ ทำให้บริษัทจะหันมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นไว้แล้ว เพื่อช่วยบริษัทฯ ทำตลาดกับลูกค้าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของจีน อีกทั้งยังมองถึงการที่จะมีผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งทำให้บริษัทนำเสนอสินค้าเข้าไปขายได้ ซึ่งหากมีลูกค้าจากจีนเข้ามามากขึ้น จะเป็นแรงหนุนสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้านแนวโน้มรายได้ของบริษัทในช่วง 3-5 ปีนี้ ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 8-10% ต่อปี ซึ่งมาจากการขยายตัวของตลาดในประเทศที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใน EEC และส่งผลบวกต่อความต้องการใช้สินค้าที่บริษัทผลิตและจำหน่าย
พร้อมทั้งบริษัทฯ ยังมีการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อนำเสนอแก่ลูกค้า เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียไฟฟ้าให้กับโรงงานของลูกค้า พร้อมกับมีรายได้จากงานบริการเข้ามาเสริม ขณะเดียวกันยังจะมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ทำให้บริษัทฯสามารถทำตลาดได้เพิ่มมากขึ้น หนุนรายได้ให้กับบริษัทฯ ให้เติบโตขึ้นได้ตามที่ตั้งไว้
ขณะเดียวกัน การที่บริษัทได้เข้าไปสร้างโรงงานผลิตในประเทศเวียดนามแห่งแรกในปี 63 เพื่อรองรับโครงการใหญ่หลายโครงการ ซึ่งเวียดนามมีการลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่ในเวียดนาม 3 ราย มูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาทเข้ามาแล้ว
นายสุชาติ ยังเปิดเผยว่า บริษัทมองการเติบโตของธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องจะทำให้บริษัทสามารถย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ได้ภายใน 3-5 ปีนี้ จากปัจจุบันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)
สำหรับแนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน จากที่ปีก่อนชะลอตัวไป เนื่องจากบริษัทชะลอการขายสินค่า เพราะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นระบบ IOT ผ่านเครือข่าย 4G แทนการใช้ WIFI ซึ่งปัจจุบันการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของบริษัทได้เสร็จสิ้นแล้ว ทำให้การผลิตและการขายสินค้าสามารถทำได้อย่างเต็มที่ และเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เป็นต้นมา ซึ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ที่มีการทยอยส่งมอบงาน
ในไตรมาส 4/62 บริษัทจะมีการทยอยรับรู้รายได้จากการส่งมอบงานเข้ามาอีก 400 ล้านบาท จากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมดกว่า 900 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ภายในปี 63 ซึ่งบริษัทมั่นใจว่ารายได้ในปี 62 จะอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 1.01 พันล้านบาท และคาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะทำสถิติสูงสุดใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีปัจจัยหนุนเสริมมาจากการที่บริษัทมีการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะที่มีการเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว