นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 63 จะเติบโตก้าวกระโดดหรือเติบโตราว 20% จากปีนี้ รับผลดีจากการเริ่มเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงท่าพระ-เตาปูนตั้งแต่สิ้นเดือน มี.ค.63 หลังจากทยอยทดลองให้บริการช่วงหัวลำโพง-หลักสองตั้งแต่เดือน ก.ย.62 ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมาที่ 4.2-4.3 แสนคน/วัน และขึ้นไปแตะสูงสุดที่ 4.7 แสนคน/วัน จากก่อนเปิดส่วนต่อขยายอยู่ที่ 3.5-3.7 แสนคน/วัน
ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงท่าพระ-เตาปูน ได้เริ่มทดสอบการเดินรถเมื่อต้นเดือน พ.ย.62 โดยนำรถเข้าไปทดสอบก่อนและในวันที่ 15 พ.ย.นี้จะเริ่มให้พนักงานเข้าปฏิบัติการเดินรถเสมือนจริง จากนั้นในเดือน ธ.ค.นี้ก็จะเดินรถเสมือนจริง (Demo Run) ขณะที่รอการออกใบอนุญาตจากวิศวกรอิสระก่อน จึงจะสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่ามีความพร้อมเดินรถก่อนถึงกำหนดที่วางไว้
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟฟ้า 35 ขบวนละ 3 ตู้ หรือรวมทั้งหมด 105 ตู้ โดย 1 ตู้สามารถบรรจุผู้โดยสาร 750-800 คน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และช่วงท่าพระ-เตาปูน โดยสั่งซื้อจากซีเมนส์ที่เคยสั่งซื้อล็อตแรกในการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-เตาปูน เพื่อการเชื่อมต่อการเดินรถอย่างที่ราบรื่น รวมทั้งสั่งซื้อระบบอาณัติสัญญาณจากซีเมนส์
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ซีเมนส์เริ่มทยอยส่งมอบขบวนรถและระบบอาณัติสัญญาณตั้งแต่ต้นปี 62 โดยผลิตและส่งมาให้แล้ว 18 ขบวน ซึ่งได้นำมาใช้เดินรถทั้งในเส้นเดิมและส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง จากก่อนหน้ามี 19 ขบวน และจะทยอยส่งมาจนครบ 35 ขบวนภายในเดือน มี.ค.63
ขบวนรถที่สั่งซื้อใหม่นี้จะต้องนำมาปรับปรุงภายในรถ อาทิ ป้ายบอกทางและสถานี กล้อง CCTV ทั้งนี้อายุการใช้งานรถไฟฟ้านาน 30 ปี คาดว่าจำนวนรถที่สั่งซื้อล่าสุดจะสามารถรองรับการเดินรถประมาณ 10 ปี ตามการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และที่ BEM คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารเฉลี่ยปีละ 4% หากเต็มความสามารถรองรับแล้ว บริษัทยังสามารถเพิ่มตู้โดยสารจากปัจจุบันมี 3 ตู้ เป็น 4 -6 ตู้ อย่างไรก็ตามการสั่งซื้อรถไฟฟ้าขบวนรอบใหม่ควรจะไม่ต่ำกว่า 10 ขบวน
นายวิทูรย์ กล่าวว่า BEM ยังสนใจเข้าร่วมประมูลและพร้อมเข้าประมูลเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีจำนวน 28 สถานี เส้นทางนี้คาดว่าจะต้องใช้ขบวนรถในการเดินรถไม่ต่ำกว่ากว่า 30 ขบวน
ทั้งนี้ หากเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ที่ให้ลงทุนงานโยธาด้านตะวันตก และเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทางจะทำให้โครงการไม่เกิดความล่าช้า และสามารถแยกการเดินรถบางส่วนได้ก่อน ดังนั้น การนำ PPP มาใช้จะช่วยลดข้อจำกัดที่ภาครัฐไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะด้วย
ส่วนรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ บริษัทก็สนใจเช่นกัน และเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะได้งาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทเดินรถสายสีม่วง ช่วงเตาปูน- บางไผ่ รวมไปถึงการเดินรถในระบบขนส่งสาธารณะหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ตและเชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของ รฟม.