สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (4 - 8 พฤศจิกายน 2562) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 471,211.79 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 94,242.36 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 52% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภท ของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 75% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 354,170 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 99,437 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 10,022 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB28DA (อายุ 9.1 ปี) LB24DB (อายุ 5.1 ปี) และ LB21DA (อายุ 2.1 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย ในแต่ละรุ่นเท่ากับ 13,940 ล้านบาท 13,573 ล้านบาท และ 11,414 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รุ่น CPFTH261A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 495 ล้าน บาท หุ้นกู้ของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) รุ่น CENTEL239A (A) มูลค่าการซื้อขาย 465 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) รุ่น TCAP29OA (Non- Rated) มูลค่าการซื้อขาย 400 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเคลื่อนไหวผันผวน โดยผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงเป็ผลมาจากการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.50% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยการลดดอกเบี้ยจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ ธปท.ออก 4 มาตรการ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์นำเงินออกนอกประเทศ ได้แก่ 1. การยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับเข้ามาในประเทศ 2. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3. การโอนเงินออกนอกประเทศ 4. การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่าง ประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 62 ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะทยอยยกเลิก ภาษีสินค้านำเข้าของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาการค้าเฟสแรกสำเร็จ ก็จะมีการทำข้อตกลงยกเลิกภาษีและความยินยอมอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ตลาดติดตามรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า
ด้าน สบน. ดำเนินธุรกรรม Bond E- Switching ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท ในวันที่ 8 พ.ย. 62 โดยกำหนดให้ตราสารรุ่น LB21DA เป็น Source Bond และตราสารรุ่น LB24DB, LB356A, LB386A, LB496A และ LB676A เป็น Destination Bond
สัปดาห์ที่ผ่านมา (4 พ.ย. - 8 พ.ย. 62) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 2,628 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 786 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 1,713 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 130 ล้านบาท
หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย สัปดาห์นี้ สัปดาห์ก่อนหน้า เปลี่ยนแปลง สะสมตั้งแต่ต้นปี (4 - 8 พ.ย. 62) (28 ต.ค. - 1 พ.ย. 62) (%) (1 ม.ค. - 8 พ.ย. 62) มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท) 471,211.79 309,936.53 52.03% 18,724,994.31 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท) 94,242.36 61,987.31 52.03% 89,166.64 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index) 118.53 119.64 -0.93% ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index) 105.61 105.6 0.01% เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --% ช่วงอายุของตราสารหนี้ 1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี สัปดาห์นี้ (8 พ.ย. 62) 1.31 1.32 1.32 1.36 1.46 1.69 1.81 1.96 สัปดาห์ก่อนหน้า (1 พ.ย. 62) 1.41 1.45 1.43 1.4 1.41 1.53 1.6 1.81 เปลี่ยนแปลง (basis point) -10 -13 -11 -4 5 16 21 15