นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า เป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อรวมของธนาคารในปี 63 ในเบื้องต้นตั้งเป้าไว้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 ของกระทรวงการคลัง และใกล้เคียงกับการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ โดยที่ธนาคารมองว่าในปี 63 ยังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนต่อนื่องจากปีนี้ โดยเฉพาะปัจจัยความไม่แน่นอนที่มจากจากปัจจัยภายนอก ส่งผลกระทบที่กดดันการเติบโตของภาพรวมของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย ปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนและผู้ประกอบการชะลอตัวลงไป และส่งผลต่อการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งมีผลกระทบต่อความต้องการใช้สินเชื่อ ทำให้ภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อในปี 63 จะอาจเกิดการชะลอตัวได้ต่อเนื่องจากปีนี้ หากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆที่สร้างความเสี่ยงต่อภาพรวมยังไม่ชัดเจน ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 63 จะถูกแรงกดดันหลักมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลต่อผลการดำเนินงานในปีหน้าเต็มปี ซึ่งการลดดอกเบี้ยของธนาคารจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่จะปรับตัวลดลงอย่างแน่นอน แต่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารในการลดภาระดอกเบี้ยให้ลดลง
สำหรับแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 63 จะพยายามควบคุมให้ Gross NPL ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับปีนี้ โดยที่ธนาคารยังคงมีการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ลูกค้าสมารถฟื้นกลับมาได้และไม่เป็น NPL โดยการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ธนาคารยังมีการตัดหนี้สูญ (write off) และการขายหนี้บางส่วนออกไปเพื่อควบคุม NPL ซึ่งในช่วงไตรมาส 4/62 ธนาคารจะควบคุม Gross NPL ให้ลดลงมาไม่เกิน 1 แสนล้านบาท จากที่ 9 เดือนที่ผ่านมา Gross NPL ขึ้นไปแตะที่ 1 แสนล้านบาทเล็กน้อย ส่วนการตั้งสำรองของธนาคารยังเป็นไปตามปกติ ซึ่งอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ของธนาคารจะรักษาให้อยู่ที่ 120-130% จากปัจจุบันที่ 128% แต่ธนาคารจะต้องมีการตั้งสำรอง NPA ที่ถือครองเกิน 10 ปี เข้ามากดดัน แต่มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการตั้งสำรองมาก "ตอนนี้เราก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพิ่มความสมดุลให้กับพอร์ต ให้มีสเถียรภาพมากขึ้น ลดความหวือหวาของ Balance Sheet ลงไปให้การบริหารจัดการดีขึ้น"นายผยง กล่าว
ส่วนกรณีของบมจ.เอคิว เอสเตท (AQ) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศาลพิจารณาคดีอยู่ ซึ่งธนาคารไม่ได้เร่งรัดกระบวนการ และหากศาลตัดสินว่าให้หยุดหรือให้ดำเนินการในเรื่องของการขายทรัพย์ ธนาคารจะดำเนินการโดยกรมบังคับคดีต่อไปจนจบกระบวนการ โดยยังขาดรายได้ส่วนนี้อีกราว 3-4 พันล้านบาท และคาดว่าจะรับรู้รายได้ส่วนนี้ในปีหน้า จากที่ก่อนหนานี้ธนาคารมีการบันทึกรายได้บางส่วนราว 3.9 พันล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1/62 ไปแล้ว
นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการเปิดบริการใหม่ๆที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพและสร้างรายได้ใหม่ๆเข้ามาให้กับธนาคาร เพื่อเป็นการปรับตัวของธนาคารรองรับการเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจธนาคารที่ถูก Disrupt ทำให้การเติบโตของธนาคารเป็นไปในลักษณะ New Normal และสร้าง Ecosystem ของธนาคารให้ลูกค้าได้ใช้บริการที่ครอบคลุม
โดยที่ New S Curve ของธนาคารนั้นจะเริ่มจากการเป็นแพลตฟอร์มของการบริการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐก่อน จากที่ผ่านมาธนาคารได้เริ่มจากการทำระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกมา และการวางระบบ Digital Payment ของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และทำให้ระบบการชำระเงินรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ซึ่งได้มีการต่อยอดมาสู่ระบบการชำระเงินของผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปผ่านโครงการชิมช้อปใช้ ที่เริ่มมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาพกว้างมากขึ้น และทำให้มีลูกค้าที่อยู่ในระบบของธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการรวมกว่า 170,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในต่างจังหวัดที่ธนาคารพาณิชย์อื่นเข้าไม่ถึง ทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น และผลักดันให้ประชาชนไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล
"การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆของธนาคารกรุงไทยมีความคืบหน้ามากขึ้น มีการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐไปถึงประชาชนทั่วไป แบบ Connect the dot และพร้อมที่จะเดินเข้าไปเป็น Platform ที่เป็น Open Banking โดยเฉพาะการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Next ที่ในปีหน้าจะเห็นสิ่งที่ธนาคารพัฒนาเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่ใช้เวลา 2 ปีกว่าในการพัฒนาระบบนิเวศน์ของแพลตฟอร์ม"นายผยง กล่าว