บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ลีซ อิท (LIT) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพอใจ และมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ ในการประเมินอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังพิจารณารวมถึงประวัติการดำเนินงานที่เพียงพอของบริษัทในการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise -- SMEs) ที่เน้นการรับงานโครงการจากภาครัฐอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างเล็ก รวมทั้งความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสียที่อยู่ในระดับต่ำ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและภาระหนี้จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากระดับปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2561 ที่ระดับ 1.42 เท่า จากการขยายพอร์ตสินเชื่อที่ระดับ 5%-10% ต่อปีตามสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าด้วยปัจจัยสนับสนุนดังนี้ 1) การที่บริษัทมีสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะสั้น (ต่ำกว่า 6 เดือน) ซึ่งทำให้สินเชื่อคงค้างครบกำหนดด้วยอัตราที่เร็วกว่าและทำให้การขยายตัวของภาระหนี้ช้ากว่าบริษัทที่ให้สินเชื่อระยะยาว 2) ฐานทุนที่เพิ่มขึ้นจากผลกำไรที่ดีและอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับปานกลาง และ 3) นโยบายการเติบโตแบบยั่งยืนของผู้บริหารของบริษัท
ประวัติการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในสินเชื่อกลุ่มลูกค้า SMEs ที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐ บริษัทมีประวัติการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในสินเชื่อที่ให้แก่กลุ่มลูกค้า SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐ ทั้งนี้ บริษัทให้บริการทางการเงินที่หลากหลายแก่กลุ่ม SMEs ซึ่งประกอบไปด้วย สินเชื่อลีสซิ่งและเช่าซื้อ สินเชื่อรับซื้อลูกหนี้การค้า สินเชื่อเพื่อค้ำประกันซองประมูล สินเชื่อเพื่อจัดหาสินค้าหรือสนับสนุนเงินทุน และบริการธุรกรรมต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทส่วนมากเป็นลูกค้า SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ รูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะมี 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวบริษัทเอง ลูกค้า (ลูกหนี้ของบริษัท) และลูกหนี้ของลูกค้า (หน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนรายใหญ่) โดยหลักสำคัญของรูปแบบการดำเนินธุรกิจจะมีการโอนสิทธิ์ในการเรียกรับการชำระเงินจากลูกหนี้ของลูกค้ามาให้ทางบริษัทหลังจากที่สินเชื่อได้รับการอนุมัติให้แก่ลูกค้าแล้ว
การให้สินเชื่อแก่ลูกค้า SMEs ที่รับงานโครงการจากภาครัฐถือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่สำคัญของบริษัท ทั้งนี้ จุดแข็งของบริษัทอยู่ที่การมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานและความรู้ความเข้าใจในกระบวนทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ การทำงานกับหน่วยงานภาครัฐยังช่วยลดความเสี่ยงทางด้านเครดิตของบริษัทลงได้อีกส่วนหนึ่งด้วยเนื่องจากเงินที่จะได้รับชำระนั้นมาจากเงินงบประมาณของภาครัฐเกือบทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มีข้อสังเกตว่าอาจมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามระเบียบราชการได้ ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อประมาน 50% ของบริษัทนั้นเป็นสินเชื่อที่ให้แก่กลุ่มลูกค้า SMEs ที่รับงานโครงการของภาครัฐ สัดส่วนดังกล่าวค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 60% ณ เดือนมิถุนายน 2562
คุณภาพสินทรัพย์ที่เปราะบาง แม้ว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ของบริษัทจะมีการโอนสิทธิในลูกหนี้การค้าเป็นประกัน แต่ทริสเรทติ้งยังคงมองว่าธุรกิจสินเชื่อของบริษัทมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มลูกค้า SMEs ซึ่งโดยทั่วไปจะมีประวัติทางด้านเครดิตที่อ่อนแอและไม่มากก็น้อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ได้ ระดับความเสี่ยงด้านเครดิตโดยภาพรวมของบริษัทขึ้นอยู่กับคุณภาพเครดิตของลูกค้า ผนวกกับความสามารถในการส่งมอบงานตามสัญญา (ความเสี่ยงด้านประสิทธิภาพ) และคุณภาพเครดิตลูกหนี้ของลูกค้า ในขณะที่ลูกหนี้ของลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐนั้นมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่ต่ำกว่าลูกหนี้ในภาคเอกชน แต่การที่ลูกค้านำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามสัญญา และเกิดการทุจริตจากการปลอมแปลงเอกสารก็เป็นเหตุผลหลักที่อาจทำให้เกิดประเด็นปัญหาในด้านคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
คุณภาพสินทรัพย์ของทางบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม) ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 10.4% และ 12.8% ณ สิ้นปี 2560 และสิ้นปี 2561 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาจากลูกค้าโครงการหลัก ๆ ไม่กี่รายที่มีขนาดสินเชื่อคงค้างที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งหากไม่นับรวมลูกหนี้รายใหญ่ในกลุ่มดังกล่าวแล้ว สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทส่วนใหญ่จะมาจากลูกหนี้ของลูกค้าที่เป็นบริษัทภาคเอกชนซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาที่เกิดจากการปลอมแปลงเอกสาร
การที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับสูงนั้นยังเกิดมาจากอีกสาเหตุหนึ่งคือบริษัทมีนโยบายการตัดหนี้สูญที่เคร่งครัด โดยบริษัทจะตัดหนี้สูญเมื่อมั่นใจว่าสินเชื่อนั้นจะไม่สามารถเรียกเก็บได้แล้วอย่างแน่นอน จึงทำให้ก่อนปี 2561 บริษัทมีการตัดหนี้สูญออกจากบัญชีที่ค่อนข้างน้อยมาก ๆ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สูญตัดบัญชีต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยของบริษัทในปี 2561 อยู่ที่ระดับเพียง 0.8% ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินรายอื่น ๆ เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทได้ปรับลดสัดส่วนลูกหนี้ที่เป็นบริษัทในภาคเอกชนและอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงลง เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งยังได้มีการปรับกระบวนการทำงานใหม่เพื่อลดทอนความเสี่ยงจากการเกิดทุจริตในด้านต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาในปี 2560 บริษัทได้มีการขยายสินเชื่อไปยังลูกค้าที่มีลูกหนี้เป็นบริษัทภาคเอกชนมากขึ้นจากเดิมที่เน้นลูกค้าที่มีลูกหนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้สัดส่วนของลูกค้าที่มีลูกหนี้เป็นภาคเอกชนต่อลูกค้าที่มีลูกหนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐขยับขึ้นมาเป็น 50:50 ในปี 2561 จาก 30:70 ในปี 2559 ซึ่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนดังกล่าวจะค่อย ๆ ขยับกลับไปในทิศทางเหมือนเช่นในอดีต
สถานะทางตลาดที่ค่อนข้างเล็กและการกระจุกตัวของลูกค้าที่อยู่ในระดับสูง สถานะทางการตลาดของบริษัทเมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อรวมคงค้างแล้วถือว่ามีขนาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินซึ่งจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ 2.55 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2560 แม้ว่าบริษัทจะมีการขยายสินเชื่อและกระจายฐานลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่การกระจุกตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงก็ยังคงเป็นปัจจัยกังวลของทริสเรทติ้งและส่งผลลบต่ออันดับเครดิต โดยในปี 2561 ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 20 รายคิดเป็นสัดส่วน 40% ของสินเชื่อรวมของบริษัท การกระจุกตัวของสินเชื่อเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและยังมีผลต่อสถานะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในกรณีการประเมินอันดับเครดิตของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวดังกล่าวยังมีผลในด้านลบต่อผลประกอบการของบริษัทด้วยเช่นกันหากคุณภาพสินทรัพย์ของลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าในระยะยาวบริษัทน่าจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการขยายธุรกิจและจะยังคงมีส่วนต่างอายุของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นบวก การที่สินเชื่อส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินเชื่อระยะสั้นนั้นมีส่วนช่วยสนับสนุนให้บริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่ดีกว่าบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อระยะยาวเป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายทั้งจากวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากทางธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ด้วย
บริษัทมีส่วนต่างอายุที่เป็นบวกในส่วนของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สิน โดยอายุเฉลี่ยของสินเชื่ออยู่ระหว่าง 3-6 เดือน ในขณะที่อายุเฉลี่ยของเงินกู้ยืมอยู่ที่ 15-18 เดือน ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ มิถุนายน 2562 บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วน 21.7% มีเงินกู้ระยะยาวในสัดส่วน 40.4% และที่เหลือเป็นส่วนทุนของบริษัทในสัดส่วน 37.9%
ในระหว่างนี้บริษัทมีหุ้นกู้จำนวน 615 ล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงต้นปี 2563 โดยจำนวน 315 ล้านบาทจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 31 มกราคม 2563 และจำนวน 300 ล้านบาทจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่สำหรับภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระเหล่านี้ได้ โดยทางผู้บริหารได้วางแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้
มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีแต่มีความเสี่ยงในด้านลบ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะรักษาความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเอาไว้ได้ โดยคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5.0% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแรงกดดันที่มีต่ออัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าจะอยู่ในระดับที่น้อยมากเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้า SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์และมีข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุน ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านลบก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท ทั้งนี้ หากต้นทุนด้านเครดิตของบริษัทเพิ่มสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งแล้ว อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็อาจลดลงต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งได้ประเมินไว้ สำหรับผลประกอบการในรอบปี 2562 นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่เกิดจากลูกค้ารายใหญ่จะกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.0% ลดลงจาก 5.9% ในปี 2561 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญจากคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนแอลงเป็นสำคัญ
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ต่ำ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีโอกาสที่จะมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่ไม่เพียงพอเมื่อมีการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่หรือ TFRS9 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2563 เมื่อพิจารณาจากการที่บริษัทมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้นในระยะหลัง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเห็นว่าประเด็นดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากคำชี้แจงของผู้บริหารของบริษัทที่ระบุว่า หากต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะใช้เงินจากกำไรสะสมของบริษัท ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอจะรองรับการตั้งสำรองเพิ่มเติม โดย ณ สิ้นปี 2561 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 60% ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตซึ่งมีค่าเฉลี่ยเกินกว่า 100% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันเมื่อมีการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2562-2564 ดังนี้
การขยายตัวของสินเชื่อใหม่จะอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 5%-10% ต่อปี
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะรักษาระดับต่ำกว่า 2 เท่า
อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยโดยรวมของบริษัทจะอยู่ในระดับ 11%-13%
ต้นทุนทางด้านเครดิตจะรักษาระดับอยู่ที่ 3%-4%
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 28%-30%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะค่อย ๆ พัฒนาสถานะทางการตลาด ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานความคาดหมายที่บริษัทจะคงฐานทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในขณะเดียวกัน บริษัทต้องปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ยังคงระดับภาระหนี้ซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นมากด้วย
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีการเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง ในขณะเดียวกัน การขยายสินเชื่อในเชิงรุกจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่เกินกว่า 2.75 เท่าก็จะมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน