5 สายการบินโลว์คอสต์ ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยเวียดเจ็ท และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ทำหนังสือยื่นต่อนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เพื่อขอให้พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชิ้อเพลิงเครื่องบิน เนื่องจากสายการบินประสบปัญหาขาดทุนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอส่งผลต่อการท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย (TAA) จำกัด กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือว่า น้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนสำคัญของทุกสายการบิน โดยมีสัดส่วน 30-35% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ทุกสายการบินประสบปัญหาขาดทุน หากปีหน้ายังไม่มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันอากาศยาน ก็อาจจะเห็นบางสายการบินลดขนาด หรือหยุดทำการบิน เพราะที่ผ่านมาสายการบินไม่สามารถผลักภาระภาษีไปได้ทั้งหมด เพราะยังมีการแข่งขันราคากันรุนแรง
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวในฐานะตัวแทนรับหนังสือแทนรมว.คลังว่า ได้หารือและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการสายการบินโลวคอสต์แอร์ไลน์ที่ต้องการขอปรับลดภาษีสรรพสามิตที่ปัจจุบันเก็บในอัตรา 4.726 บาท/ลิตรที่จัดเก็บ เมื่อ ก.ย. 60 จากเดิมเก็บในอัตรา 0.20 บาท/ลิตร
ผู้ประกอบการมองว่าอัตราดังกล่าวเป็นการปรับขึ้นแบบบก้าวกระโดด ขณะที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจผันผวน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้ผู้โดยสารทั้งต่างชาติและไทยปรับตัวลดลง ประกอบกับ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากเดิม 35 บาท/ดอลลาร์ มาที่ 30.20-30-30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้สายการบินโลวคอสต์ได้รับผลกระทบมาก และแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นโดยปริยาย อาจมีล้มหายตายจาก ซึ่งก็ไม่ต้องการเห็นภาพเช่นนั้น
ในที่ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ได้หารือเป็น 2 แนวทาง โดยผู้ประกอบการเสนอให้ปรับลดอัตราหนึ่งก่อน เพื่อบรรเทาปัญหาต้นทุน และอาจจะทยอยปรับลด 2-3 ปี แล้วแต่การหารือร่วมกันคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมามีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกัน
ส่วนแนวทางที่ 2 จะปรับลดลงอิงกับค่าเงินบาท เป็นขั้นบันได อาทิ หากเงินบาทอยู่ในช่วง 30-32 บาท/ดอลลาร์ จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราหนึ่ง หากเงินบาทอยู่ในช่วง 33-34 บาท/ดอลลาร์ ก็จะมีอัตราจัดเก็บอีกระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ จะเร่งนำเสนอให้ รมว.คลัง และหากเห็นชอบให้ปรับลดภาษีสรรพสามิต ก็จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด