(เพิ่มเติม) JWD คาดรายได้ปีนี้โต 15% จากเป้า 15-20% รับผลสงครามการค้า,หวังงานบริการยกขนตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบังนุนผลงานปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 13, 2019 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตได้ราว 15% จากเป้าหมายเดิมที่คาดโต 15-20% เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว การนำเข้า-ส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในธุรกิจอาหาร คาดว่าจะทำรายได้จากกลุ่มดังกล่าวในปีนี้ทั้งปีที่ 600 ล้านบาท ต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดว่าจะทำได้ 1,000 ล้านบาท และการขนส่งทางรถไฟชะลอตัวตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามบริษัทธุรกิจอื่นๆของบริษัทยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี

ช่วงไตรมาส 4/62 บริษัทได้ทำการขายหุ้นทั้งหมด ในบริษัท โอเชี่ยน แอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (OAI) ซึ่งดำเนินธุรกิจตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทางทะเล ทางอากาศ (Freight Forwarding) จึงทำให้บริษัทไม่ต้องรับรู้ผลการขาดทุนในบริษัทดังกล่าว จากเดิมที่รับรู้ผลขาดทุนทั้งปีราว 6 ล้านบาท

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องนั้น บริษัทยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบ และยังเป็นโอกาสให้บริษัทได้พิจารณาเพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัท Phonm Penh SEZ Plc. (PPSEZ) จากผู้ถือหุ้นรายเดิม จากปัจจุบันที่บริษัทถืออยู่ทั้งสิ้น 14.6% รวมถึงจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มใน TRANSIMEX CORPORATION ผู้นำให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรรายใหญ่ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จากผู้ถือหุ้นรายเดิม จากปัจจุบันถืออยู่ทั้งสิ้น 22.77% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปลายปีนี้

ล่าสุด บริษัทเพิ่งได้รับเลือกเป็นผู้ประกอบการรายเดียวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ได้รับสิทธิให้บริการยกขนตู้สินค้าคอนเทนเนอร์จากท่าเทียบเรือแม่น้ำ (Barge Terminal) ภายในท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าจะเริ่มให้บริการในช่วงต้นปีหน้า และยังให้ความสนใจขยายธุรกิจเป็นผู้รับดำเนินงานขนถ่ายสินค้าในโครงการ SRTO หรือ Single Rail Transfer Operator ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มปริมาณงานขนส่งสินค้าทางรางและลดต้นทุนการบริการต่อหน่วย (Economy of Scale)

รวมถึงได้ขยายธุรกิจจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิและจัดส่งสินค้าด่วนพิเศษ (Express) เพื่อต่อยอดธุรกิจห้องเย็น ขยายฐานลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการในยุคอี-คอมเมิร์ช และมีนโยบายขยายธุรกิจจัดการขนส่งสินค้าทางราง สู่การให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation)

ส่วนการลงทุนในธุรกิจ Self-Storage (ห้องเก็บของส่วนตัว) สาขาสยาม เพื่อตอบสนองความต้องการผู้อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัดและ SME ที่ต้องการเช่าพื้นที่เก็บสินค้าในเมือง ปัจจุบันยังมีผลการดำเนินงานไม่ถึงจุดคุ้มทุน แต่บริษัทก็ได้ขยายธุรกิจ Art Space หรือการรับจัดเก็บและบริการงานศิลปะแบบครบวงจรที่เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งการลงทุนต่าง ๆ เป็นไปตามกลยุทธ์ที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะเป็น New S-Curve ภายใต้สถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ กัมพูชาเป็นประเทศที่เติบโตอย่างโดดเด่น ปัจจุบันมีธุรกิจโลจิสติกส์และคลังสินค้า ลานรับฝากตู้คอนเทนเนอร์ นิคมอุตสาหกรรม PPSEZ และอยู่ระหว่างขยายพื้นที่คลังสินค้าห้องเย็น คาดว่าจะเปิดบริการในต้นปี 63 ส่วนธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้าลงทุนใน Bok Seng PPSEZ Co.,Ltd (Bok Seng) คาดว่าจะเติบโตดีในปีหน้า ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ลงทุนใน Phonm Penh SEZ Plc. (PPSEZ) ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เฟส 4 ส่วนการลงทุนในเวียดนาม ที่ JWD เข้าถือหุ้น 22.76% ใน TRANSIMEX CORPORATION ผู้นำให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรรายใหญ่ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เตรียมขยายบริการเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการค้าปลีกข้ามชาติและ JWD มีแผนเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น

ขณะที่การลงทุนในอินโดนีเซียโดยร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นนั้น ปัจจุบันยังไม่รับรู้ผลกำไรเนื่องจากมีต้นทุนการเงินค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนดำเนินการเพื่อจัดการปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลงและมีแนวโน้มทำผลกำไรที่ดีขึ้นในปีหน้า ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์และคลังสินค้าใน สปป.ลาว และเมียนมา ยังไม่เติบโตมากนัก โดยบริษัทจะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ หากมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจะรุกขยายการลงทุนอย่างเต็มที่

ด้านนายเอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของ JWD เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,671.6 ล้านบาท เติบโต 15.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ามีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนขยายธุรกิจ และมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 มีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมรายการพิเศษจากการด้อยค่าของทรัพย์สิน (Impairment) 2 รายการ รวม 6.9 ล้านบาท จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 81.9 ล้านบาท ถือว่ามีอัตราเติบโตที่ดี

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว หากนับเฉพาะธุรกิจ Existing Business หรือธุรกิจหลักเดิมที่ดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจจัดเก็บและบริหารสินค้าอันตราย ธุรกิจรับฝากและบริหารยานยนต์ ธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น ถือว่ามีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน ท่ามกลางปัจจัยลบจากภาวะสงครามการค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความกังวลในการถูกตัด GSP (สิทธิพิเศษทางภาษี) จากสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจดังกล่าวยังเป็น Cash Cow หรือธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้แก่บริษัท

ขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่บางส่วนที่ขยายการลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การขยายธุรกิจให้บริการยกขนตู้สินค้าทางราง มีปริมาณตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวจากสงครามการค้า ประกอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยปรับขึ้นค่าระวางการขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ส่วนธุรกิจให้บริการอาหาร (Food Service) ที่เข้าลงทุนใน CSLF ประเทศไต้หวัน มีผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายจะดีที่สุดในรอบปี เนื่องจากเข้าสู่ไฮซีซั่นของธุรกิจอาหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ