นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทปรับเพิ่มเป้าหมายพอร์ตผลิตไฟฟ้าในปี 68 ขึ้นสู่ระดับ 6,100 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งในส่วนนี้จะมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ ( BPP) จำนวน 5,300 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายเดิมที่ 4,300 เมกะวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือราว 3,000 เมกะวัตต์
สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะมาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่บริษัทมองโอกาสการลงทุนในสหรัฐฯ ราว 2-3 แห่ง ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากธุรกิจ shale gas ที่มีอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้บ้านปู เน็กซ์ (BANPU NEXT) ซึ่งเป็นบริษัทจัดตั้งใหม่ที่มี BANPU และ BPP ถือหุ้นฝ่ายละ 50% ซึ่งจะรวมพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม BANPU มาอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ วางเป้าหมายจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมโซลาร์รูฟท็อป เป็น 1,623 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 จากปัจจุบันมีอยู่ 406.7 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้จะเป็นกำลังการผลิตของ BANPU และ BPP อย่างละ 50% ตามสัดส่วนการถือหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ภายในปี 68 มาจากธุรกิจด้านพลังงานสะอาดมากกว่า 50% ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยีพลังงาน สมาร์ทซิตี้ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีกต่ำกว่า 50% จะมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และธุรกิจเหมือง จากปัจจุบันที่ EBITDA มาจากธุรกิจพลังงานสะอาดราว 25% ขณะที่ธุรกิจเหมือง ถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีสัดส่วนราว 65-70%
"การที่เรา restructuring ครั้งนี้มีบริษัทเกิดใหม่ชื่อว่า BANPU NEXT เรามองไปในโลกของการพัฒนาด้านพลังงาน เทรนด์ด้านเทคโนโลยี เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม เทรนด์ด้านเกี่ยวกับการดูแลบริษัทบนแพลตฟอร์มที่เป็นเทคโนโลยีมาแน่นอน ปัจจุบันบ้านปูไปคอยอยู่แล้ว ดูแค่การขายโซลาร์บนหลังคา ขายแบตเตอรี่ ไม่ใช่เป้าหมายเรา เราขายทั้งโซลูชั่น ขายโปรดักส์ด้วย แพลตฟอร์มด้วย BANPU NEXT ก็จะมีบ้านบ้านปูแพลตฟอร์ม ที่จะมี IoT Platform สามารถที่จะบริหารเรื่องสมาร์ทต่าง ๆ ได้บนมือถือของลูกค้า นี่คือเป้าหมาย เพราะเรามองเห็นว่า บน 3G เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้น บ้านปูมีอยู่แล้วทั้งหมด เราสามารถจะตอบสนองการเติบโตที่เกิดขึ้นได้ เพื่อสร้างรีเทิร์นให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นจุดแข็งที่บ้านปูจะทำได้เช่นเดียวกัน"นางสมฤดี กล่าว
นางสาวสมฤดี กล่าวอีกว่า BANPU NEXT จะมีทุนจดทะเบียน 7,900 ล้านบาท ซึ่งจะจัดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.63 หลังจากนั้นก็จะจัดทำแผนลงทุนเพื่อรองรับเป้าหมายการดำเนินงาน เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนของ BANPU NEXT จะสร้างผลตอบแทนได้ในระดับ 15% ขึ้นไป ส่วนจะนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่นั้นต้องขึ้นกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในอนาคต
เป้าหมายของ BANPU NEXT ภายในปี 68 จะประกอบด้วย กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มจาก 300 เมกะวัตต์ เป็น 1,100 เมกะวัตต์ ,โซลาร์รูฟท็อป จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 500 เมกะวัตต์, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) ที่ร่วมลงทุน 47% ในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ในจีน จะขยายกำลังการผลิตเป็น จาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง , ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) ที่ลงทุน 21.5% ในรถยนต์ไฟฟ้า FOMM ที่ญี่ปุ่น วางเป้าขายตามสัดส่วนร่วมทุนจาก 100 คัน เป็น 34,000 คัน ,กลุ่มสมาร์ทซิตี้ จากปัจจุบันที่มีการให้บริการ 4 พื้นที่จะเพิ่มเป็น 9 พื้นที่ และกลุ่มเทรดดิ้งพลังงาน (Energy Trading) จะเริ่มดำเนินการที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันยังไม่มีการซื้อขาย แต่วางเป้าหมายเพิ่มเป็น 300 กิกะวัตต์ชั่วโมง
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า หลังจากแยกพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมาอยู่ภายใต้ BANPU NEXT แล้ว ในส่วนของ BPP จะเน้นลงทุนและดูแลบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทพลังงานพื้นฐาน (Base Load) ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า HELE (High-Efficiency ,Low Emissions) ในระบบ Utra Super Critical ที่ประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งวางเป้าจะมีกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทพลังงานพื้นฐานเพิ่มเป็น 4,500 เมกะวัตต์ในปี 68 จากปัจจุบันที่มี 2,300 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน
ขณะที่ในส่วนของธุรกิจ BANPU ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จะบริหารจัดการภาพรวมธุรกิจในกลุ่ม ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานใน 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน โดยในส่วนของธุรกิจเหมือง นอกเหนือจากเหมืองถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็จะมองโอกาสลงทุนเหมืองแร่อื่นที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Tech Minerals) ทั้งเหมืองลิเทียม และเหมืองแร่อื่น ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า โดยมองโอกาสทั้งในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย หรือมองโกเลีย ที่บริษัทมีฐานการผลิตเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว และยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีเหมืองแร่ต่างๆ อยู่มาก ซึ่งในช่วงปี 63-68 จะเห็นพอร์ตลงทุนของกลุ่มบริษัท
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า ผลประกอบการช่วงไตรมาส 3/62 ขาดทุนสุทธิราว 106 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาถ่านหินที่ปรับลดลง และได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า
ขณะที่ไตรมาส 4/62 บริษัทจะเน้นการบริหารต้นทุนให้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 ด้านราคาถ่านหินอาจจะต่ำกว่า โดยราคาถ่านหินในตลาดจรในปัจจุบันอยู่ที่ราว 67 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ในส่วนของประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และหงสา ที่ดีขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวในสหรัฐ และราคาพลังงานในจีนที่สูงขึ้น ก็น่าจะเข้ามาช่วยสนัลสนุนผลการดำเนินงานด้วย
ส่วนทั้งปี 62 ยังคงเป้าหมายปริมาณขายถ่านหินราว 47 ล้านตัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้สามารถขายถ่านหินได้แล้ว 3 ใน 4 ส่วน
ด้านธุรกิจ shale gas แม้ขณะนี้ราคาก๊าซฯ ในสหรัฐจะยังอยู่ในระดับต่ำจากปริมาณการผลิตที่ออกมามาก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ก็คาดว่าราคาก๊าซฯจะขยับขึ้น เล็กน้อย อย่างไรก็ตามบริษัทยังมองโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมใน shale gas ที่สหรัฐ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในต้นปี 63