PTTEP วางกลยุทธ์ 5 ปีวิสัยทัศน์"Energy Partner of Choice"ดันกำลังผลิตโตเฉลี่ย 5-7% เน้นร่วมมือพันธมิตร-ลุยสำรวจแหล่งใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 13, 2019 19:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์ 5 ปีนับจากนี้ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ "Energy Partner of Choice"โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5-7% ซึ่งจะส่งผลให้อีก 4 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวไปสู่ระดับ 6-7 แสนบาร์เรล/วัน จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.5 แสนบาร์เรล/วัน โดยเฉพาะหลังจากที่บริษัทเป็นผู้ชนะประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ทำให้สามารถรับรู้กำลังผลิตเข้ามาได้เต็มที่ทั้ง 100%

นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการ Murphy Oil ในมาเลเซีย ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปีนี้อีก 50,000 บาร์เรล/วัน และในปีหน้าก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน Patex ให้รับรู้เพิ่มอีก 20,000 บาร์เรล/วัน ส่วนในด้านต้นทุนการผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลในช่วง 5 ปีนี้

สำหรับในปี 62 บริษัทจะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ 4.2 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงต้นปีที่มีกำลังการผลิต 3.7 แสนบาร์เรล/วัน เป็นผลมาจากการเข้าซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมที่มีการผลิตแล้ว

นายพงศธร กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีนี้ ปตท.สผ.จะเน้นการลงทุนและสร้างรายได้หลักใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เมียนมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน จากปัจจุบันที่มีการลงทุนในธุรกิจหลักด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 15 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ ปตท.สผ.จะลดกิจกรรมการไปซื้อกิจการแห่งปิโตรเลียมที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเน้นการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่แทน เพราะมองว่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า และยังเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมด้วย

ทั้งนี้ โดยปกติบริษัทจะทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ปีละ 1-3 หลุม แต่ปี 63 อาจจะสำรวจประมาณเกือบ 20 หลุม โดยตั้งงบลงทนไว้ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งสำรวจในมาเลเซีย 11 หลุม ส่วนงบประมาณการสำรวจในช่วง 4 ปีจากนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1.7-2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

"การซื้อกิจการ ผลตอบแทนการลงทุนอาจจะไม่สูงมาก แต่ถ้าเป็นการทำกิจกรรมการสำรวจที่บริษัทน้ำมันทั่วๆไปจะทำ ธุรกิจนี้เรียกว่า High Rich High Return ช่วงนี้เราจึงต้องทำให้สิ่งที่เราไปเอามาออกดอกออกผล"นายพงศธร กล่าว

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.จะหันมาเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการหลักที่มีอยู่ และเร่งรัดโครงการที่อยู่ในขั้นการสำรวจทั้งในเมียนมา และมาเลเซีย ให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น รวมทั้งให้ความสนใจการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางเป็น 2 ประเภท คือโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ได้มีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้าไปซื้อกิจการ บริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นในแหล่งปิโตรเลียมที่โอมานและมีโครงการสำรวจในหลายประเทศ

สำหรับความคืบหน้าโครงการ Cash Maple ในออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ทั้งการหาพันธมิตรร่วมทุนหรือผู้ที่อยากจะซื้อ คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในไตรมาส 1/63

ส่วนโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในแคนาดา อยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยกำลังพิจารณาระหว่างหาผู้ซื้อ ซึ่งตอนนี้มีคนสนใจจะมาขอซื้อแล้ว หรือคืนแปลงสำรวจให้กับรัฐบาล เพราะยอมรับว่าสถานการณ์วันที่บริษัทได้เข้าซื้อมากับปัจจุบันเป็นคนละภาพกัน

"โลกมีความรู้สึกว่าน้ำมันมันหมดโลกแล้ว ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 120 เหรียญฯ ทุกคนเฝ้าจับตา Peak Oil แต่อยู่ๆ โลกเปลี่ยน น้ำมันท่วมโลก ไม่มี Demand อีก...มีความเป็นไปได้สูงที่จะพับแผน เราก็ไม่อยากฝืน เพราะการที่จะลงทุนในโครงการนั้นมันต้องอาศัยราคาน้ำมันที่นิ่งๆ อยู่ที่ระดับสูงมาก ที่ราคาประมาณ 90 ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ"นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ Energy Partner of Choice เชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเติบโตมีความสำคัญมากกว่าการแข่งขัน จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานการขยายธุรกิจ โดยเน้นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความชำนาญและมองหาโอกาสธุรกิจโดยเน้นการลงทุนในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็คือมาเลเซียและเมียนมา รวมทั้งหาโอกาสลงทุนร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เน้นการลงทุนในตะวันออกกลาง คือ โอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ด้านนางนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกิจการองค์กรและกำกับการปฏิบัติตามนโยบาย ปตท.สผ. กล่าวเสริมว่า เราจะต้องการรักษาและเพิ่มปริมาณการผลิต รวมทั้งเพิ่มปริมาณสำรอง ซึ่งจากนี้ไปจะโฟกัสหลายๆด้าน โดยเฉพาะกิจการที่เข้าซื้อมาแล้วจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้มีการ Transition จากเจ้าของเก่ามาถึงเราได้อย่างราบรื่น ทั้งในเรื่อง Operation การบริหารจัดการ Governance model ต่างๆ ให้ถูกต้อง

ในส่วนของโครงการสำรวจ ที่เน้นในขณะนี้ คือ เมียนมา และ มาเลเซีย ซึ่งมีการค้นพบแหล่งใหญ่ที่มาเลเซีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนขุดเจาะหลุมสำรวจและประเมินผล ขณะเดียวกันก็เตรียมแผนพัฒนาควบคู่กันไป โดยจะทำแบบ fast track ตั้งแต่ต้นจนจบ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทจะหันมาเน้นการสำรวจแหล่งใหม่ ๆ แต่ก็จะไม่ทิ้งโครงการมีมีอยู่ปัจจุบัน เช่น โครงการ S1 กำแพงเพชร ปัจจุบันสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ 35,000 บาร์เรล/วัน จากปีที่ผ่านมาเฉลี่ยทั้งปีทำได้ 27,000 บาร์เรล/วัน แต่ทั้งปีนี้เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่มากกว่า 3 หมื่นบาร์เรล/วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ